เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามผลกระทบ หลังเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ในส่วนของตลาด ร้านค้าชุมชน ประเภทต่างๆ พบว่าหลายแห่งยังปิดตัวเงียบ ไม่ต่างกับตลาดร้าง ถึงแม้จะไม่ใช่พื้นที่สีแดงเสี่ยงสูงสุด หรือถึงแม้ ศบค.จะประกาศผ่อนคลาย ให้สามารถเปิดบริการนั่งดื่มนั่งทานในร้านแล้วก็ตาม ก็ยังไม่ทำการเปิดตลาดใหม่ หรือเปิดกิจการแต่อย่างใด 

นายประดิษฐ์ ปัญญา อายุ 59 ปี บ้านเลขที่ 169 หมู่ 9 บ้านบ่อ ต.ธัญญา อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ เจ้าของร้านอาหารของแซบอีสาน ประเภทลาบก้อยลือชื่อ “ครัวสุดยอด” กล่าวว่า ตนทำธุรกิจร้านอาหารมาตั้งแต่ปี 2549 ได้รับการอุดหนุนจากลูกค้าเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นเจ้าแรกในย่านนี้ที่เปิดเป็นร้านใหญ่ มีบริการเสิร์ฟอาหารอีสานหลายเมนู ตั้งอยู่ในทำเลที่เหมาะสม โดยตั้งร้านอยู่ตรงข้ามสถานีบริการน้ำมัน มีร้านสะดวกซื้อ เป็นเส้นทางหลักสายกาฬสินธุ์-ร้อยเอ็ด สามารถเดินทางเชื่อมหลายอำเภอ ลูกค้าที่ชื่นชอบอาหารอีสานประเภทก้อยขมต้มแซ่บ และอาหารพื้นบ้านอย่างต้มไก่บ้าน จึงเข้ามาใช้บริการไม่ขาดสาย มีรายได้ถึงวันละ 30,000-40,000 บาท

นายประดิษฐ์ กล่าวอีกว่า พอถึงต้นปี 2563 เกิดสถานการณ์โรคติดเชื้อโควิดรุนแรงขึ้น ร้านครัวสุดยอดที่เสิร์ฟเมนูของแซ่บอีสานมา 14 ปี ต้องปิดร้านไปตามสถานการณ์ ยอมรับในช่วงนั้นเคว้งคว้างมาก เพราะขาดรายได้พ่อครัว แม่ครัว ลูกจ้างในร้านเกือบ 10 คนต้องตกงาน ขณะที่ตนต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด จึงเปิดหน้าร้านขายของชำและเครื่องดื่มทั่วไป มีรายได้เพียงวันละ 1,000-2,000 บาท เพื่อขอให้มีรายได้หล่อเลี้ยงครอบครัว ส่งเสียลูกเรียน และเป็นค่าผ่อนงวดรถ งวดบ้าน ซึ่งไม่เพียงพอต่อรายจ่ายประจำเดือน ก็ได้แต่อดออมและอดทนมาเรื่อยๆ และหวังว่าอีกไม่นานหากสถานการณ์โควิดผ่อนคลาย ก็จะกลับมาเปิดร้านอีก เพราะยังเก็บอุปกรณ์ทำครัวไว้ ไม่ยอมนำไปขายหรือจำนำ และมีความวังว่าอีกไม่นานจะได้เปิดร้านอีก เพราะเป็นอาชีพที่ชอบและสุจริต ทั้งนี้ ทุกวันนี้ใจจริงก็อยากจะเปิดร้านอยู่ แต่ก็นึกหวั่นใจ และไม่แน่ใจ กลัวว่าโควิดจะเกิดการระบาดและถูกทางการสั่งปิดร้านอีก

ด้าน นางมะลิวัลย์ ดอนสมจิตร อสม.หมู่ 9 บ้านบ่อ ต.ธัญญา อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้น และยังพบผู้ติดเชื้อทุกวัน ตนและเพื่อน อสม.หลายคนยอมรับว่ากลัวเหมือนกัน ทั้งหวั่นกลัวที่จะได้รับเชื้อ เนื่องจากยังมีคนเดินทางจากพื้นที่เสี่ยงเข้ามาในพื้นที่ อสม.ซึ่งเป็นด่านหน้า ต้องทำการคัดกรอง จึงเป็นภาวะเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิดมาก ขณะที่ในส่วนของวัสดุอุปกรณ์สำหรับป้องกันเช่น ถุงมือ หน้ากาก อาจจะไม่เพียงพอ ช่วงแรกๆเครื่องวัดอุณหภูมิหรือเครื่องวัดไข้ไม่มี อสม.ต้องซื้อเอง โดยเฉพาะชุดป้องกันหรือชุด PPE ไม่มี การออกปฏิบัติหน้าที่บางครั้ง ต้องใส่เสื้อกันฝนแทน ซึ่งคงจะไม่มีประสิทธิภาพป้องกันโรคโควิด-19 ได้ 

นางมะลิวรรณ กล่าวอีกว่า กรณีวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ป้องกันโควิด ในการปฏิบัติหน้าที่ด่านหน้า ที่ต้องสัมผัสใกล้ชิดกับกลุ่มเสี่ยงนั้น ก็อยากร้องขอจากรัฐบาลในการจัดหาให้เพียงพอต่อความต้องการของ อสม. รวมถึงบุคลากรด่านหน้า เพราะเชื่อว่าโรคโควิดยังจะอยู่กับพวกเราอีกยาวนาน นอกจากนี้ หากเป็นไปได้ในส่วนของค่าตอบแทนก็อยากจะให้ทางรัฐบาลพิจารณาเพิ่มขึ้นให้ด้วย เพราะปัจจุบันได้รับเพียงเดือนละ 1,000 บาท ซึ่งหากเทียบกับหน้าที่ความรับผิดชอบถือว่ายังน้อย โดยเฉพาะเสี่ยงกับการติดเชื้อโควิดมาก จึงอยากให้รัฐบาลจัดเพิ่มให้ อสม.ด้วย ถือเป็นค่าประกันความเสี่ยงติดโควิด และบำรุงขวัญกำลังใจให้ อสม.ก็แล้วกัน