สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. ว่า นายคิม จอง-อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ แถลงต่อที่ประชุมสำนักงานขีปนาวุธกองทัพ ในกรุงเปียงยาง ว่าเกาหลีเหนือ “ไม่เคยมีความลังเล” ที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์ หากศัตรูของรัฐบาลเปียงยางเป็นฝ่ายเปิดฉากโจมตี โดยใช้อาวุธดังกล่าวก่อน


ขณะเดียวกัน สำนักข่าวกลางเกาหลี (เคซีเอ็นเอ) เผยแพร่แถลงการณ์ของ น.ส.คิม โย-จอง น้องสาวของท่านผู้นำสูงสุด ประณามการที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) มีมติเกี่ยวกับ การทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีป (ไอซีบีเอ็ม) “ฮวาซอง-18” เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นครั้งที่ 5 ในปีนี้ ที่เกาหลีเหนือทดสอบไอซีบีเอ็ม และเป็นครั้งที่สาม สำหรับการทดสอบฮวาซอง-18


ทั้งนี้ เธอเน้นย้ำ “สิทธิในการป้องกันตนเอง” ของเกาหลีเหนือ และกล่าวถึงการที่สหรัฐและเกาหลีใต้ ยังคงซ้อมรบร่วมกัน “อย่างไม่หยุดหย่อน” ในเขตคาบสมุทรเกาหลี คือการข่มขู่คุกคาม เพื่อเตรียมการรุกรานเกาหลีเหนือ โดยอ้างคำว่า “การป้องปราม” เป็นฉากบังหน้าเท่านั้น


แม้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกาหลีเหนือแสดงท่าทีลักษณะนี้ อย่างไรก็ตาม ด้านเกาหลีใต้ สหรัฐ และญี่ปุ่น ออกแถลงการณ์ร่วมกัน เรียกร้องรัฐบาลเปียงยาง “ยุติพฤติการณ์ยั่วยุ” แล้วหันหน้ามาเจรจา “โดยปราศจากเงื่อนไข”


อนึ่ง ศูนย์บัญชาการสหประชาชาติ (ยูเอ็นซี) บนคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งเป็นผู้ควบคุมสถานการณ์ความมั่นคงบริเวณเขตปลอดทหาร (ดีเอ็มซี) ซึ่งแบ่งเขตแดนระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ นับตั้งแต่การสิ้นสุดสงครามเกาหลี ระหว่างปี 2493-2496 ออกแถลงการณ์ว่า นับจากนี้ ทหารซึ่งประจำการอยู่บริเวณพื้นที่ความมั่นคงร่วม (เจเอสเอ) ฝั่งเกาหลีใต้ จะสามารถติดอาวุธได้


ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้น หลังรัฐบาลเปียงยางประกาศให้ทหารซึ่งประจำการบนพื้นที่ความมั่นคงร่วมฝั่งเกาหลีเหนือ กลับมาติดอาวุธ หลังประกาศยุติความร่วมมือทางทหารกับเกาหลีใต้ ตามข้อตกลงบรรเทาความตึงเครียดทางทหาร ฉบับปี 2561 “ซึ่งสิ้นสุดโดยปริยาย” หลังเกาหลีเหนือส่งดาวเทียมสอดแนมทางทหารดวงแรกของประเทศ เมื่อปลายเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา.

เครดิตภาพ : AFP