ปัญหาสภาวะโลกรวนเป็นปัญหาที่ทั่วโลกให้ความสำคัญและพยายามดำเนินกระบวนการต่าง ๆ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการออกแบบและก่อสร้างอาคารซึ่งนอกจากเรื่องของความสวยงาม พื้นที่การใช้สอย และความมั่นคงแข็งแรงแล้ว ยังคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด หรือที่เรียกกันว่า “อาคารเขียว (Green Building)” โดยประเทศไทยถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ให้ความสำคัญและส่งเสริมการพัฒนาอาคารเขียวภายในประเทศมาอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดไทยยังสามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จากการประกวด ASEAN Energy Awards 2021 ด้านอนุรักษ์พลังงาน ประเภทอาคารสีเขียว (อาคารขนาดใหญ่) คือ อาคารศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง จ.นนทบุรี ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่สร้างขึ้นเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานของประเทศ และเป็นต้นแบบศูนย์การเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์พลังงานที่ได้รับการรับรองมาตรฐานอาคารเขียวของประเทศสหรัฐอเมริกา (LEED) ในระดับ Platinum ซึ่งเป็นระดับสูงสุด โดยก่อนหน้านี้ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ยังได้รับรางวัลดีเด่น Thailand Energy Awards 2021 ด้านอนุรักษ์พลังงาน ประเภทอาคารสร้างสรรค์เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน (อาคารใหม่) จากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานอีกด้วย

ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง ไม่เพียงโดดเด่นด้วยสถานที่ตั้งซึ่งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่เต็มไปด้วยบรรยากาศแห่งความผ่อนคลายเท่านั้น แต่ความร่มรื่นของพื้นที่สีเขียวทั้งสวนแนวตั้ง ต้นไม้โดยรอบอาคาร รวมถึงสวนบนดาดฟ้าซึ่งออกแบบภายใต้แนวคิด “การเรียนรู้ท่ามกลางธรรมชาติ: Learning in the Park” เหมาะสำหรับการเรียนรู้และพักผ่อนหย่อนใจของครอบครัว

ผสานพลังธรรมชาติ เสริมพลังการเรียนรู้

อาคารศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากเส้นสายของพลังงานธรรมชาติ ทั้งพลังงานน้ำ สายลม แสงแดด หรือแม้แต่พลังงานความร้อนมาประสานกันก่อให้เกิดการหมุนเวียนของพลังงานอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งถูกถ่ายทอดผ่านการออกแบบอาคารที่คำนึงถึงการผสานพลังของธรรมชาติ ให้ความร้อนเข้าสู่อาคารน้อยที่สุด แต่ได้รับลมและแสงสว่างธรรมชาติมากที่สุด ตั้งแต่รูปทรงอาคารที่เกิดจากการตัดกันของเส้นโค้ง 2 เส้น เป็นรูปวงรีจนเกิดเป็นพื้นที่โถงกลางเพื่อเปิดให้ลมธรรมชาติสามารถไหลเคลื่อนผ่านได้อย่างสะดวก สามารถเปิดมุมมองได้รอบด้านและเห็นโค้งแม่น้ำเจ้าพระยา

ส่วนพื้นที่ชั้นล่างเน้นการไหลผ่านของลมปริมาณมาก (Through Ventilation) โดยลมที่เคลื่อนที่ไหลเวียนผ่านบ่อน้ำ น้ำพุ และต้นไม้ที่อยู่โดยรอบ จะพัดพาความชุ่มชื้นร่มเย็นเข้าสู่ตัวอาคาร ช่วยระบายความร้อน รวมถึงเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้แก่ชุมชน เพราะ กฟผ. เชื่อว่าการได้เข้ามาสัมผัสบรรยากาศธรรมชาติที่ผ่อนคลายจะช่วยเสริมพลังแห่งการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด

ลดใช้พลังงาน ส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน

ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง ยังส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ (Solar Cell) บริเวณผนังอาคาร ระเบียงอาคาร และหลังคาที่จอดรถ ซึ่งมีกำลังผลิตติดตั้งรวมถึง 106 กิโลวัตต์ สำหรับผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ภายในอาคารควบคู่กับการติดตั้งระบบจัดการและควบคุมอาคารอัตโนมัติ รวมถึงการหมุนเวียนน้ำที่ใช้แล้วซึ่งกักเก็บไว้ในบ่อหน่วงน้ำกลับมาใช้รดน้ำต้นไม้ 

นอกจากนี้ การออกแบบอาคารให้รับลมธรรมชาติ มีการถ่ายเทอากาศในพื้นที่ที่ไม่ปรับอากาศ และป้องกันแสงแดดให้ได้มากที่สุด ทำให้อาคารศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลางมีพื้นที่ติดตั้งเครื่องปรับอากาศน้อยกว่าร้อยละ 60 ของพื้นที่อาคารทั้งหมด อีกทั้งการเลือกใช้วัสดุที่มีคุณสมบัติป้องกันความร้อนและผลิตภัณฑ์ประหยัดไฟฟ้า อาทิ หลอด LED ระบบปรับอากาศตามสภาพการใช้งานจริง หลังคาเหล็กเคลือบสีที่มีค่าสะท้อนความร้อนสูงและมีฉนวนกันความร้อนใต้หลังคา ผนังที่มีรูพรุนเพื่อการระบายอากาศ ทำให้สามารถลดการใช้พลังงานได้อย่างเป็นรูปธรรม

ศูนย์การเรียนรู้เพื่อทุกคน

ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง ยังให้ความสำคัญกับผู้มาใช้อาคารตามหลักการออกแบบเพื่อทุกคน (Universal Design) โดยเฉพาะการจัดให้มีอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกต่อผู้ใช้งานทุกกลุ่ม อาทิ ทางลาดเอียงสำหรับรถเข็น ป้ายและรูปจำลองที่มีปุ่มกดอักษรเบลล์ จัดทำพื้นผิวต่างสัมผัสเตือนหน้าลิฟท์ เพื่อให้ทุกคนซึ่งไม่ว่าจะมีความต่างเรื่องเพศ วัย ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกายก็มีสิทธิและสามารถเข้ามาเรียนรู้ได้ในทุกพื้นที่ ใช้อาคารแห่งนี้ได้อย่างสะดวกปลอดภัยและเท่าเทียมกันตามแนวคิด EGAT for ALL : กฟผ. เป็นของทุกคน เพื่อทุกคน”

อาคารเขียวจึงเป็นมากกว่านวัตกรรมรักษ์โลกที่ไม่เพียงใส่ใจสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับผู้มาใช้อาคารด้วย จึงต้องอาศัยความพิถีพิถันและใส่ใจในทุกรายละเอียด เช่นเดียวกับศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลางที่นอกจากเป็นสถานที่แห่งการเรียนรู้เพื่อสร้างสังคมแห่งภูมิปัญญาแล้ว ยังมุ่งมั่นพัฒนาเป็นต้นแบบของแหล่งเรียนรู้ที่เคารพต่อธรรมชาติและชุมชนที่อยู่โดยรอบเพื่อความยั่งยืนในทุกมิติอีกด้วย