ที่ห้องประชุมเจริญจิตต์ ณ สงขลา ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จ.ยะลา พล.อ.ปราการ ชลยุทธ ผู้แทนพิเศษของรัฐบาล เป็นประธานประชุมขับเคลื่อนแผนงานเสริมสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อสันติสุข ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการแก้ไขปัญหาเด็กกำพร้าและการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ โดยมี นางกนกรัตน์ เกื้อกิจ ผช.เลขาธิการ ศอ.บต. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ผู้แทน ศอ.บต. เข้าร่วมประชุมรายงานความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาดังกล่าวในห้วงปี 2564 พร้อมรายงานแผนการดำเนินงานในปี 2565
นายนันทพงศ์ สุวรรณรัตน์ ผอ.กองส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนาฝ่ายพลเรือน ศอ.บต. เผยถึงการประสานจัดทำข้อมูลและแก้ไขปัญหาเด็กกำพร้าในพื้นที่ว่า ผลการดำเนินงานประการแรกที่ได้รับภายหลังหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ คำนิยาม “เด็กกำพร้า” ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน โดยให้ความหมาย 2 ส่วนคือ เด็กกำพร้าที่ภาครัฐให้การรับรอง รวมถึงเด็กกำพร้าจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ และส่วนที่ 2 เด็กกำพร้าในความหมายของมูลนิธิหรือองค์กรอิสลามที่รับดูแลเด็ก ซึ่งให้ความหมายว่า เด็กที่พ่อแม่เสียชีวิต รวมไปถึงหย่าร้าง และถูกทอดทิ้งให้อาศัยอยู่กับคนอื่น พ่อแม่ทำงานห่างไกล ซึ่งขณะนี้ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีเด็กกำพร้า กว่า 12,000 คน เป็นเด็กกำพร้าจากเหตุการณ์ความไม่สงบ 205 คน มีสัดส่วนใน จ.นราธิวาส มากที่สุด อย่างไรก็ตาม ในปี 2564 ศอ.บต. ได้ดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ด้อยโอกาสทางสังคม กิจกรรมการส่งเสริมความร่วมมือและพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กกำพร้าในสถานศึกษานำร่องในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ดำเนินการนอกเหนือจากการช่วยเหลือของหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
พล.อ.ปราการ กล่าวว่า 17 ปีของความรุนแรง สร้างปัญหาด้านสังคมและจิตวิทยาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีเด็กกำพร้าจากเหตุการณ์ความไม่สงบและปัญหาอื่นๆ จำนวนมาก ภาครัฐจึงจำเป็นต้องโอบอุ้มดูแลเด็กกำพร้า เพื่อให้เข้าถึงระบบการศึกษาและมีคุณภาพชีวิตที่ดี ช่วยดึงให้เด็กเข้าถึงการบริการจากรัฐและการดูแล เพื่อป้องกันมิให้เกิดการหันหลังให้ภาครัฐหรือเข้าสู่หนทางยาเสพติด จึงฝากให้ ศอ.บต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญ ในการดูแลเด็กกำพร้าในพื้นที่ เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว
นอกจากนี้ที่ประชุมมีการหารือช่วยเหลือเด็กที่ได้รับผลกระทบจากคดีความมั่นคงหรือเหตุการณ์ความไม่สงบ อาทิ เหตุการณ์ปิดล้อม ผู้ปกครองต้องคดีและอยู่ระหว่างการพิจารณาคดี ซึ่งมีจำนวนกว่า 200 ราย ที่ประชุมเสนอว่า อาจต้องมีกิจกรรมทางจิตวิทยามวลชน สร้างความเข้าใจในกระบวนการทางคดีที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันมิให้เด็กกลุ่มนี้หันหลังแก่รัฐ โดยประธานการประชุมมอบหมายให้เจ้าหน้าที่จัดทำข้อมูลเพื่อหารือผู้บริหาร ศอ.บต. และนำไปสู่ขั้นตอนต่อไปในอนาคต