การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.), กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ (NSDF), คณะกรรมการกีฬามวย, สมาคมกีฬามวยไทยสมัครเล่นแห่งประเทศไทยฯ, สมาคมกีฬามวยอาชีพแห่งประเทศไทย และสหพันธ์สมาคมมวยไทยนานาชาติ (IFMA) ร่วมกันจัดโครงการประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่ศิลปะมวยไทยสู่ต่างประเทศ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทยให้เผยแพร่ไปสู่ระดับนานาชาติ และกำหนดมาตรฐานมวยไทย One Standard Muaythai (OSM) พร้อมกับจัดการแข่งขันรายการ “ยูโรเปี้ยน มวยไทย แชมเปี้ยนชิพส์-2023 อีลิท ยูโรเปี้ยน แชมเปี้ยนชิพส์ อันตัลยา (European Muaythai Championships-2023 Elite European Championships ANTALYA)” โดยมีนักชกจาก 26 ชาติในทวีปยุโรป เข้าร่วมสังเวียนการชิงชัย ที่มูรัตพาซา ภายในเมืองอันตัลยา ประเทศตุรกี ระหว่างวันที่ 8-15 ธ.ค.66
โครงการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ศิลปะมวยไทยสู่ต่างประเทศ ที่ประเทศตุรกี นำโดย ดร.ปัญญา หาญลำยวง คณะกรรมการติดตามการใช้จ่ายงบประมาณของกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ นำคณะนักมวยไทยโบราณ ที่มี “ครูดิน” นายวิทวัส ค้าสม ครูมวยไทยผู้ก่อตั้งค่ายลานนาไฟท์ติ้งมวยไทย และครูนนท์ แสงสุริยะโชค นำทีมมวยไทยโบราณ ไปร่วมโชว์การไหว้ครู และไม้มวยไทย ศิลปวัฒนธรรมประจำชาติไทย รวมถึงการแสดงวงปี่พาทย์มวยไทย ให้กับชาวยุโรปได้ทึ่ง นอกจากนี้ยังมีการเปิดคลินิกสอนทักษะมวยไทยให้กับผู้เข้ารับการอบรมทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ ซึ่งได้รับการตอบรับจากนักกีฬามวยไทยทั่วไป และเยาวชนที่ให้ความสนใจเข้าร่วมฝึกทักษะกันอย่างคึกคัก
ขณะเดียวกันยังได้มีการจัดการแข่งขัน “ยูโรเปี้ยน มวยไทย แชมเปี้ยนชิพส์-2023 อีลิท ยูโรเปี้ยน แชมเปี้ยนชิพส์ อันตัลยา (European Muaythai Championships-2023 Elite European Championships ANTALYA)” โดยมีนักกีฬามวยไทยจาก 26 ชาติในทวีปยุโรปเข้าร่วมการแข่งขันมวยไทยกันอย่างเข้มข้น และคึกคัก ที่มูรัตพาซา ภายในเมืองอันตัลยา ประเทศตุรกี เมื่อช่วงวันที่ 8-15 ธ.ค.66 เพื่อเป็นการส่งเสริมกีฬามวยไทยให้เป็นที่นิยมแพร่หลายมากยิ่งขึ้นในทวีปยุโรป ต่อยอดไปสู่การบรรจุเข้าแข่งขันในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2032 ที่เมืองบริสเบน ประเทศออสเตรเลีย เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันปี ค.ศ.2032
ดร.ปัญญา หาญลำยวง เปิดเผยว่า ได้มีโอกาสติดตามโครงการมวยไทยในการแข่งขันยูโรเปี้ยน มวยไทย แชมเปี้ยนชิพส์ ที่เมืองอันตัลยา ประเทศตุรกี ซึ่งต้องขอชื่นชมว่าในขณะนี้มวยไทยของเราได้แพร่กระจายไปทั่วทุกมุมโลก ถือว่าภาพรวมในการแข่งขันครั้งนี้มีทีมในทวีปยุโรป เข้าร่วมการชิงชัยทั้งสิ้น 26 ประเทศ แสดงให้เห็นว่าภาพรวมของมวยไทยพัฒนาไปได้อย่างกว้างขวาง ที่สำคัญที่สุดในภาพรวมของการจัดการแข่งขันเห็นได้ชัดว่าทุกประเทศมีการพัฒนาเรื่องของนักมวยไทย และรูปแบบการจัดแข่งขันมีมาตรฐานเดียวกันเกือบทุกภูมิภาคของโลก
“สิ่งเหล่านี้ทำให้เราได้เห็นว่าเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่แท้จริงของมวยไทย และเราได้เห็นแล้วว่าสิ่งที่ต้องพัฒนาอย่างเร่งด่วนคือ เรื่องบุคลากรผู้ฝึกสอน และนักกีฬามวยไทยที่ทั่วทุกมุมโลกยังขาดทักษะ เพราะเขามีแต่ความแข็งแกร่ง และพละกำลัง แต่สิ่งสำคัญยังมีเรื่องการประกวดไหว้ครูมวยไทย ซึ่งในยูโรเปี้ยน มวยไทย แชมเปี้ยนชิพส์ มีเรื่องการไหว้ครู การประกวดแม่ไม้มวยไทย ซึ่งเห็นแล้วว่าเราจะต้องมีการพัฒนาอย่างจริงจัง เพราะฉะนั้นโครงการต่อไปของซอฟต์พาวเวอร์ มวยไทย เราก็จะต้องส่งบุคลากรของเราไปให้ความรู้ มีการจัดการอบรมในทั่วทุกทวีปเรื่องการไหว้ครู แม่ไม้มวยไทย รวมทั้งการพัฒนานักมวย ผู้ฝึกสอน ผู้ตัดสิน และการกำหนดมาตรฐานการจัดแข่งขันที่ชัดเจน”
ดร.ปัญญา กล่าวอีกว่า ปัจจัยสำคัญในการพัฒนาให้เป็นกำหนดมาตรฐานมวยไทย One Standard Muaythai ทั้งโลกต้องเหมือนกัน สิ่งที่เราเห็น และชื่นชมอย่างมากคือ ชาติที่ร่วมชิงชัยยูโรเปี้ยน มวยไทย แชมเปี้ยนชิพส์ ครั้งนี้ มีเสื้อที่มีคำว่า “Muaythai” ติดอยู่ข้างหลัง เราถามเขาว่าคุณคือ Boxing ใช่ไหม? เขาบอกว่าไม่ใช่ เขาคือ Muaythai และเขาก็จะบอกว่า I love Muaythai รวมไปถึงอุปกรณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกางเกง นวม เสื้อคลุม และอื่นๆ เขาปักคำว่า “Muaythai” ทำให้เราเห็นได้ชัดว่าในอนาคตมวยไทยจะเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่สำคัญ การจัดกิจกรรมต่างๆ ของมวยไทยจะทำให้สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยอย่างมหาศาล
“เราเชื่อมั่นว่าในระยะเวลาอันใกล้นี้ มวยไทยจะเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทั่วโลก เพื่อเป้าหมายของเราในการผลักดันให้มวยไทยบรรจุในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกได้อย่างแน่นอน ขอบคุณชาติสมาชิกทั่วโลกที่ให้การสนับสนุนจนมวยไทยของเรานั้นแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว และกำลังจะเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก” ดร.ปัญญา กล่าวปิดท้าย