เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2566 นายพัฒนากร เขตนิมิตร หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ มรภ.ศรีสะเกษ เปิดเผยว่า มรภ.ศรีสะเกษ ได้ดำเนินโครงการยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ขึ้น ซึ่งโครงการตามยุทธศาสตร์นี้ ครอบคลุมทุกอำเภอในจังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดยโสธร เพื่อให้สอดรับกับนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมหลังสถานการณ์โควิด และยุทธศาสตร์ BCG Economy สำนักปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.)
ทั้งนี้การดำเนินโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG and Regional Development) ซึ่งเป็นการดำเนินการเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ด้วยเศรษฐกิจ BCG ในพื้นที่ 7,435 ตำบล ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ โดยเป็นการนำองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของสถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานต่างๆ ภายใต้ อว. ไปขับเคลื่อนทั้งในภาคการผลิตและบริการในระดับพื้นที่ เพื่อให้เกิดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เพิ่มและรักษาระดับการจ้างงาน อาทิ การเกิดธุรกิจใหม่ การขยายตัวทางธุรกิจ การเติบโตของการลงทุน การเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ และการเพิ่มการบริโภค เป็นต้น
นอกจากนี้ยังได้จัดทำโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ การยกระดับผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นเมือง กระเป๋า และผ้าพันคอ สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน ต.ฟ้าห่วน อ.ค้อวัง จ.ยโสธร โดยฝ่ายประชาสัมพันธ์ กองกลาง สำนักงานอธิการบดี มรภ.ศรีสะเกษ ร่วมกับ นางวาสินี พฤกษชาติ พัฒนาการอำเภอค้อวัง และนายสวาท จำปาเทศ นายก อบต.ฟ้าห่วน ให้การสนับสนุนร่วมกิจกรรมด้วย ซึ่งเป็นหนึ่งพื้นที่ในเขตบริการของ มรภ.ศรีสะเกษ อย่างไรก็ตามในการลงพื้นที่จัดการอบรมในครั้งนี้ เพื่อเป็นการต่อยอด ผลักดัน และส่งเสริมให้กลุ่มประชาชนในพื้นที่ ต.ฟ้าห่วน จ.ยโสธร ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นเมือง ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาตราสินค้าและบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้สามารถเพิ่มมูลค่าให้สินค้าและขายผลิตภัณฑ์ในช่องทางที่หลากหลาย และนำขึ้นทะเบียนสินค้าของชุมชน เพื่อเพิ่มจุดแข็ง เกิดการต่อรองทางการตลาด และให้ชุมชนมีรายได้ที่ยั่งยืนอีกด้วย.