เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.66 ท่านอ้น วัชเรศร วิวัชรวงศ์ เดินทางมาที่ จ.หนองคาย โดยในช่วงเช้าได้ทำพิธีบวงสรวงสักการะเพื่อบูรณะพระธาตุโพนจิกเวียงงัว ภายในวัดพระธาตุบุ ต.ปะโค อ.เมืองหนองคาย พร้อมเยี่ยมชมการขุดโบราณสถานที่อยู่ภายในวัด โดยทางจังหวัดหนองคายได้ร่วมกับกรมศิลปากรขุดพบเมื่อประมาณปี 2559 เพื่อทำการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม โบราณสถานให้คงอยู่
สำหรับพระธาตุโพนจิกเวียงงัว เป็นพระธาตุที่เชื่อกันว่าบรรจุพระธาตุเขี้ยวฝาง (พระทันตธาตุ) ประดิษฐานอยู่ที่วัดป่าพระธาตุบุ บ้านโคกป่าฝาง ตำบลปะโค อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย ตามตำนานอุรังคธาตุ มีลักษณะทางศิลปกรรมเป็นเจดีย์ทรงระฆังสูง ก่ออิฐสอด้วยดินและยางไม้ มีฐานประทักษิณเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนาดกว้าง 17.50 เมตร ยาว 17.50 เมตร ภายในฐานประทักษิณถมดินอัดแน่น และน่าจะมีการฉาบขอบฐานประทักษิณด้วยปูนฉาบเช่นกัน อีกทั้งมุมทั้งสี่ทิศพบซากฐานอิฐรูปทรงสี่เหลี่ยมสันนิษฐานว่าเป็นพระธาตุจำลองประจำมุม 4 องค์ ถัดขึ้นไปคือฐานเขียงล่าง เป็นทรงสี่เหลี่ยมทำแท่นประดิษฐานโดยรอบ เพื่อประดิษฐานพระธาตุจำลอง 30 องค์ ส่วนเรือนธาตุเป็นองค์ระฆังทรงกลมเรียวยาวอยู่ด้านบน ถัดขึ้นไปเป็นชั้นบัวลูกแก้วในผังกลมซ้อนกัน 4 ชิ้น ส่วนยอดเป็นปลีทรงแหลมสูง คาดว่าน่าจะทำขึ้นใหม่ภายหลัง
จากนั้น ได้เดินชมซากโบราณสถานอิฐ ซึ่งอยู่บริเวณด้านทิศตะวันออกของพระธาตุโพนจิก เป็นฐานอาคารก่ออิฐ ขนาด 5.30×5.30 เมตร สูง 80 เซนติเมตร ฐานล่างของอาคารดังกล่าวมีลักษณะเป็นฐานเขียง 1 ชั้น ภายในถมปรับพื้นด้วยเศษอิฐและดินผสมเม็ดแลงบดอัด นอกจากนี้ยังพบแท่งศิลาแลงทรงกระบอกปักอยู่โดยรอบซากฐานอาคารดังกล่าว จึงสันนิษฐานเบื้องต้นว่าฐานอาคารอิฐหลังนี้น่าจะเป็น สิม (โบสถ์) และแท่งศิลาแลงเหล่านี้น่าจะเป็นหลักกำหนดเขตในการทำสังฆกรรม เช่นเดียวกับพัทธสีมา ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 99 ตอนที่ 172 วันที่ 18 พฤศจิกายน 2525 พื้นที่ประมาณ 1 ไร่ 1 งาน 58 ตารางวา.