สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. ว่า ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่สัตว์ป่าของมาเลเซีย ทำการติดตั้งกับดักกรง 11 อัน และกล้อง 20 ตัว ในพื้นที่ป่าของเขตกัวมูซาง รัฐกลันตัน ทางตะวันออกเฉียงเหนือของมาเลเซีย ซึ่งเป็นจุดเกิดเหตุเสือโคร่งทำร้ายประชาชน 3 คน จนเสียชีวิต

นายโมฮาหมัด ฮาฟิด โรฮานี ผู้อำนวยการแผนกสัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ ในรัฐกลันตัน กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี 2564 เขตกัวมูซางมีผู้เสียชีวิต 4 ราย จากการโจมตีของเสือโคร่งทั้งหมด 5 ครั้ง ซึ่งเหยื่อ 3 คนล่าสุด ถูกพบเสียชีวิตในเดือน ต.ค. และเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา

“พวกเรารู้สึกกังวลมาก เพราะนี่คือการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับเสือโคร่ง ครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบหลายสิบปีของมาเลเซีย” ฮาฟิด กล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (ไอยูซีเอ็น) กำหนดให้เสือโคร่งมลายู เป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง ขณะที่องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (ดับเบิลยูดับเบิลยูเอฟ) ในมาเลเซีย ประมาณการว่า มีเสือโคร่งเหล่านี้เหลืออยู่ในป่าน้อยกว่า 150 ตัว ส่วนฮาฟิด คาดว่ามีเสือโคร่งมลายูอาศัยอยู่ในรัฐกลันตัน ราว 35 ตัว

ในช่วงทศวรรษที่ 1950 มาเลเซียมีเสือโคร่งมลายูประมาณ 3,000 ตัว อยู่ในพื้นที่ป่าของประเทศ แต่ประชากรของพวกมันลดลงในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา เนื่องจากการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย จากการพัฒนาและการขยายตัวทางการเกษตร รวมถึงการรุกล้ำ

ด้านนายมาร์ค รายาน ธรรมราช ผู้อำนวยการสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (ดับเบิลยูซีเอส) ประจำมาเลเซีย กล่าวว่า เหตุผลหนึ่งที่ทำให้เสือโคร่งทำร้ายมนุษย์นั้น อาจเป็นเพราะเหยื่อหลักของพวกมันอย่างหมูป่า มีจำนวนลดลง เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (เอเอสเอฟ)

นอกจากนี้ รายาน ระบุเสริมว่า การจับและย้ายที่อยู่ของเสือโคร่ง ถือเป็น “สถานการณ์ที่น่าเศร้า” แต่มันเป็น “มาตรการที่เหมาะสมที่สุด” เมื่อมีการยืนยันว่าสัตว์เหล่านี้ทำร้ายหรือฆ่ามนุษย์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุสลดเช่นนี้ขึ้นอีก.

เครดิตภาพ : AFP