นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย เปิดเผยว่า หากรัฐบาลจะกู้เงินเพิ่มต้องกู้มาเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจด้วยถ้าอยากให้เศรษฐกิจโตกว่าศักยภาพที่ 3% เพราะในตอนนี้รายได้ครัวเรือนโตช้า ซึ่งเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจ และส่งผลมายังหนี้ครัวเรือนไทยในอีกไม่เกิน 5 ปีข้างหน้าอาจเกิน 100% ต่อจีดีพี จากไตรมาสแรกปี 64 อยู่ที่ 90.5% ต่อจีดีพี เพราะเศรษฐกิจยังไม่ขยายตัว แต่คนยังต้องการเงินกู้เพิ่มไปใช้จ่าย ซื้อรถยนต์ และยังอยากซื้อที่อยู่อาศัย เป็นต้น

อมรเทพ จาวะลา

ทั้งนี้วิธีการลดหนี้ครัวเรือน ซึ่งช่วงที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พยายามส่งเสริมทำคือ การเพิ่มความรู้ทางการเงินให้คนไทย แต่ในขณะที่คนยังคิดว่าต้องกิน ต้องใช้อยู่ จึงอาจไม่เห็นผลมากนัก โดยสิ่งที่จะทำได้เห็นผลคือ ทำอย่างไรให้เพิ่มรายได้ครัวเรือน และธุรกิจขนาดเล็ก หรือเอสเอ็มอี เพราะที่ผ่านมารายได้กลุ่มนี้ลดลง และค่อนข้างมีจำกัด รวมทั้งยังเป็นปัญหามานาน ซึ่งอาจใช้เครื่องมืออื่น ๆ เช่น ใช้เทคโนโลยีพัฒนาอาชีพ สร้างโอกาสทางธุรกิจ หรือตอนนี้เริ่มใช้ดิจิทัลกับเอสเอ็มอี ถือเป็นเรื่องที่ดีให้เกิดการใช้จ่ายมากขึ้น

กาญจนา โชคไพศาลศิลป์

น.ส.กาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ยังไม่ได้ประเมินว่าอีก 5 ปีข้างหน้าหนี้ครัวเรือนไทยจะไปถึง 100% ต่อจีดีพีหรือไม่ เพราะสัดส่วนหนี้จะขึ้นลงตามการขยายตัวเศรษฐกิจ และการก่อหนี้เพิ่มเติมของครัวเรือน ซึ่งปัจจุบันครัวเรือนที่มีรายได้น้อย มีปัญหาด้านการเงินต้องการกู้เงินเพิ่มเพื่อมาใช้จ่าย ดูได้จากข้อมูลสิ้นเดือน ก.ค.64 สินเชื่อส่วนบุคคล ทั้งระบบธนาคารพาณิชย์และนอนแบงก์รวมกันเติบโตสูง 18.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนมาอยู่ที่คงค้าง 6.64 แสนล้านบาท

ทั้งนี้แยกเป็นสินเชื่อส่วนบุคคลจากธนาคารพาณิชย์ 2.91 แสนล้านบาท เติบโตสูงถึง 30% และนอนแบงก์ 3.7 แสนล้านบาท เติบโต 11.2% ซึ่งคนส่วนใหญ่กู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ เพราะอาจเป็นการเร่งหาลูกค้าของธนาคาร ผ่านช่องทางออนไลน์ แอพพลิเคชั่นมากขึ้น และอาจรับความเสี่ยงในช่วงวิกฤติด้านรายได้ครัวเรือนได้มากกว่านอนแบงก์ ซึ่งต่างจากเวลาปกติที่สินเชื่อส่วนบุคคลในส่วนของนอนแบงก์จะทำได้ดีกว่า

นอกจากนี้ได้คาดการณ์หนี้ครัวเรือนสิ้นไตรมาส 2 ปี 64 จะอยู่ที่ 14.25 ล้านล้านบาท เพิ่มจากสิ้นไตรมาสแรก 1.3 แสนล้านบาทที่มี 14.12 ล้านล้านบาท แต่หากดูสัดส่วนต่อจีดีพีไตรมาส 2 อาจลดต่ำกว่า 90% ขณะที่ไตรมาสแรกหนี้สาธารณะ 90.5% ต่อจีดีพี เพราะเศรษฐกิจจีดีพีในไตรมาส 2 ขยายตัว 10.7% ซึ่งสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีจะขึ้นลงตามเศรษฐกิจ ส่วนหนี้ครัวเรือนจะเป็นหนี้ด้อยคุณภาพ หรือเอ็นพีแอลในช่วงวิกฤตินี้หรือไม่ คงไม่ได้เพิ่มเอ็นพีแอลมากจากทางการมีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในการปรับโครงสร้างหนี้อยู่