นายกริชเพชร ชัยช่วย ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม และรักษาราชการแทนอธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) เปิดเผยว่า เสนอขอรับจัดสรรงบประมาณปี 2567 จำนวน 285 ล้านบาท เป็นงบผูกพัน 3 ปี แบ่งเป็น ปี 2567 วงเงิน 57 ล้านบาท, ปี 2568 วงเงิน 114 ล้านบาท และปี 2569 วงเงิน 114 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างปรับปรุงท่าเรือเกาะล้าน (ท่าเรือหน้าบ้าน) เมืองพัทยา จ.ชลบุรี หากได้รับงบประมาณแล้ว จะจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อให้ได้ตัวผู้รับจ้างช่วงปลายปีงบ 2567 และก่อสร้างในปี 2567 แล้วเสร็จในปี 2569 ระยะเวลา 900 วัน

โครงการประกอบด้วย งานรื้อถอนท่าเทียบเรือเดิม และก่อสร้างสะพานท่าเทียบเรือชั่วคราว ก่อสร้างสะพานท่าเทียบเรือขนาด 198.00 x 14.00 ม. ก่อสร้างท่าเทียบเรือหน้าท่า ก่อสร้างศาลาพักคอยหน้าท่า ก่อสร้างศาลาทางเดินขนาด ก่อสร้างโป๊ะคอนกรีต จำนวน 6 โป๊ะ และก่อสร้างสะพานปรับระดับ จำนวน 2 ชุด

เกาะล้านเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของพื้นที่พิเศษเมืองพัทยา มีนักท่องเที่ยวเยี่ยมเยือนเกาะล้านประมาณ 5-6 ล้านคนต่อปี และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเดินทางจากท่าเรือแหลมบาลีฮาย ฝั่งเมืองพัทยา มายังท่าเรือหลักคือท่าเรือหน้าบ้าน ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะล้าน เป็นท่าเรือแห่งแรกที่ประชาชนและท้องถิ่นร่วมกันสร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2511 เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างเกาะกับฝั่ง จนถึงปัจจุบัน (ปี 2566) ระยะเวลา 55 ปีแล้ว

ปัจจุบันท่าเรือมีความชำรุดทรุดโทรมอย่างมาก แต่ยังมีการใช้งานที่คับคั่งและแออัด เพราะมีจำนวนผู้โดยสารใช้บริการท่าเรือช่วงวันจันทร์-ศุกร์ อยู่ที่ 6,000-7,000 คนต่อวัน และวันเสาร์-อาทิตย์ ประมาณ 8,000-10,000 คนต่อวัน และสามารถรองรับได้มากสุดในขณะนี้คือ 12,000 คนต่อวัน โดยเฉพาะช่วงไฮซีซั่นจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวจำนวนมาก เป็นชาวไทย 60% และชาวต่างชาติ 40% เช่น ชาวจีน อินเดีย รัสเซีย และเกาหลีใต้ ส่งผลให้ไม่สะดวกปลอดภัยต่อนักท่องเที่ยวและการขนส่ง

องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์กรมหาชน) หรือ อพท. ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาสำรวจออกแบบ เพื่อปรับปรุงท่าเรือหน้าบ้านแล้วเสร็จในปี 2558 แล้วส่งผลให้กรมเจ้าท่า จ้างที่ปรึกษาจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เพื่อเสนอสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และกรมเจ้าท่าได้รับความเห็นชอบในช่วงปลายปี 2565 จึงได้ของบประมาณ เพื่อดำเนินการก่อสร้างท่าเรือดังกล่าว

เมื่อปรับปรุงท่าเทียบเรือแล้วเสร็จ จะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวและบริหารจัดการภายในท่าเทียบเรือ ให้เกิดความปลอดภัยในท่าเรือเกาะล้าน (ท่าเรือหน้าบ้าน) เมืองพัทยา สนับสนุนการท่องเที่ยวให้ได้มาตรฐาน มีความสะดวกและปลอดภัย ส่งเสริมการท่องเที่ยว รวมทั้งช่วยรองรับปริมาณผู้ใช้บริการท่าเรือได้เพิ่มขึ้นในอนาคตประมาณ 30,000 คนต่อวัน