นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ขอชื่นชมหน่วยงานทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) กองบังคับการตำรวจทางหลวง (บก.ทล.) รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บุคลากร และเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกคน ที่ร่วมกันดำเนินการแก้ไขปัญหารถบรรทุกน้ำหนักเกินได้ประสบผลสำเร็จ และมีประสิทธิภาพ โดยล่าสุดสามารถจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกิน ซึ่งเป็นเครือข่ายของรถบรรทุกรายใหญ่ หรือที่รู้จักกันในนาม “ลูกพญาแล“ เป็นผู้มีอิทธิพลของกลุ่มรถบรรทุก ที่ส่อเค้าเลี่ยงกฎหมาย และก่อนนี้ไม่มีหน่วยงานใดกล้าจับกุมได้

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ได้รับรายงานเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 29 พ.ย. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวง ส.ทล.1 กก.1 บก.ทล. ได้ดำเนินการจับกุมตัวนายกิติศักดิ์ แสงดำ อายุ 24 ปี ผู้กระทำความผิดในคดีการใช้ยานพาหนะน้ำหนักเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดเดินบนทางหลวง อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติ ทางหลวง พ.ศ. 2535 (แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2549) มาตรา 61 โดยจากการจับกุม พบว่า นายกิติศักดิ์ได้ขับรถยนต์กระบะบรรทุก ยี่ห้อ ISUZU หมายเลขทะเบียน 53-1367 กรุงเทพมหานคร ชนิด 3 เพลา 6 ล้อ ใช้ยาง 10 เส้น และรถพ่วงหมายเลขทะเบียน 53-1368 กรุงเทพมหานคร ชนิด 3 เพลา 6 ล้อ ใช้ยาง 12 เส้น บรรทุกดิน จำนวน 1 คัน

สำหรับการจับกุมครั้งนี้ ได้จับกุมที่แยกสันติสุข ทล.346 (ถนนรังสิต-ปทุมธานี) ต.บางปรอก อ.เมืองปทุมธานี จ.ปทุมธานี โดยนายกิติศักดิ์ได้นำรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าว มาตรวจสอบที่ชั่งน้ำหนักที่ตาชั่งน้ำหนัก จ.ปทุมธานี ปรากฏว่า ชั่งได้น้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุก 73,670 กิโลกรัม (กก.) ซึ่งพิกัดน้ำหนักตามกฎหมายรถประเภทนี้กำหนดไว้ที่ 50,500 กก. จึงเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด จำนวน 23,170 กก. และได้ร่วมกันดำเนินการจับกุมส่งพนักงานสอบสวน สภ.เมืองปทุมธานี ภ.จว.ปทุมธานี ดำเนินคดีต่อไป

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า ขอยืนยันว่า ในช่วงที่ตนดำรงตำแหน่ง รมว.คมนาคม ต้องไม่มีการทุจริต หรือมีส่วยสติกเกอร์ทางหลวงเกิดขึ้นโดยเด็ดขาด พร้อมขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกำชับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมดำเนินงานทุกขั้นตอนด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ พร้อมทั้งปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต รวมถึงต้องสร้างความมั่นใจ และอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนอย่างปลอดภัย และมีประสิทธิภาพในทุกมิติ

สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหารถบรรทุกน้ำหนักเกินหลังจากนี้ จะเร่งปรับแก้ไขกฎหมายให้มีโทษปรับในอัตราสูงสุดไม่เกิน 100,000-200,000 บาท แล้วแต่กรณีการกระทำความผิด จากเดิมมีโทษปรับในอัตราสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท ส่วนกรณีเพิ่มโทษจำคุกนั้น ได้มอบหมายให้กรมทางหลวง (ทล.) ศึกษาผลดีผลเสีย รวมทั้งให้ดำเนินการเอาผิดกับผู้ประกอบการรถบรรทุกด้วย เมื่อผลศึกษาแล้วเสร็จ จะเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายใน 1 ปีหลังจากนี้.