นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท. สนับสนุนแนวทางภาครัฐทบทวนกรอบสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจากเดิมกำหนดไว้ไม่เกิน 60% เป็นไม่เกิน 70% เพื่อรองรับการกู้เงินเพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาทในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากผลกระทบโควิด-19 และการล็อกดาวน์ที่ผ่านมาส่งผลกระทบกับภาคธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจไทยชะลอตัว และอยากเน้นย้ำการใช้วงเงินดังกล่าวต้องวางแนวทางในการใช้จ่ายอย่างระมัดระวังเพื่อให้สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องวางไว้ในการขับเคลื่อนให้ต่อเนื่องเพราะเชื่อว่าหากสิ้นปีนี้การฉีดวัคซีนให้กับประชาชนครบ 70% พร้อมกับการเปิดประเทศก็จะทำให้เศรษฐกิจปี 65 จะฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
ทั้งนี้มาตรการที่ภาครัฐควรพิจารณาและเป็นประโยชน์ที่เม็ดเงินจะเข้าถึงในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่แท้จริง โดยการเยียวยาผู้ประกอบการ ประกอบด้วยมาตรการ เช่น พิจารณาขยายวงเงินค้ำประกันของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ให้แก่ลูกหนี้ของธนาคารเป็น 70%, กลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ควรพิจารณาขยายการค้ำประกันเป็น 100% เพื่อให้เข้าถึงการกู้เงินที่รัฐไม่ต้องให้เปล่า และเชื่อว่า กลุ่มนี้จะใช้เวลาฟื้นตัว 2-3 ปีก็จะสามารถกลับมาชำระหนี้ได้, ควรพิจารณาให้สถาบันการเงินหยุดคิดดอกเบี้ยชั่วคราวเงินกู้กับกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 และล็อกดาวน์ โดยรัฐเข้าไปชดเชยเงินให้กับสถาบันการเงินส่วนหนึ่ง
นอกจากนี้รัฐควรพิจารณามาตรการสนับสนุนลดค่าใช้จ่ายของประชาชนต่อเนื่องทั้งมาตรการลดค่าน้ำ ค่าไฟ และรวมไปถึงช่วยเหลือค่าใช้จ่ายการดูแล และป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ทั้งภาคประชาชน และภาคธุรกิจมีภาระเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะค่าชุดตรวจโควิด-19 หรือเอทีเค เช่น เบิกจ่ายผ่านระบบประกันสังคม การใช้งบสนับสนุน
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การที่รัฐบาลขยายเพดานหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเป็น 70% มีความสำคัญกับการพยุงเศรษฐกิจไทยในระยะสั้น และระยะยาว หากพิจารณาในต่างประเทศก็มีการปรับเพิ่มหมด ไทยเองมีความจำเป็นต้องอัดเม็ดเงินเข้าไปในระบบเพื่อแก้ปัญหาจากโควิด-19 รวมทั้งต้องฟื้นฟูภาคธุรกิจ และประชาชน ไม่เช่นนั้นอาจจะเกิดความเสียหายมหาศาล หากธุรกิจทั้งรายเล็กและรายใหญ่ต้องปิดกิจการถาวร โดยภาคเอกชนยังเชื่อมั่นในเสถียรภาพทางการคลังของไทย มองว่า ไทยยังคงมีความสามารถในการชำระหนี้อยู่ในเกณฑ์ดี ไม่ทำให้รัฐบาลถังแตก
สำหรับข้อเสนอมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ แบ่งเป็น แผนเร่งด่วน ต้องทำให้ผู้ประกอบการกลับมาเดินหน้าได้ เพิ่มกำลังซื้อ และเสริมการลงทุน ควบคู่ไปกับการต้องเพิ่มการป้องกันและความสามารถในทางสาธารณสุขไทย ขณะที่ ระยะกลางและยาว ต้องแสวงหาโอกาสของประเทศ การเติบโตจีดีพีประเทศ ต้องเพิ่มขึ้น 5-7% เพื่อเสริมจากที่โดนผลกระทบจากสถานการณ์โควิด สิ่งสำคัญรัฐต้องใช้เงินกู้มา ใช้ให้มีประสิทธิภาพ ชัดเจนโปร่งใส ตรวจสอบได้ ซึ่งที่ผ่านมาได้คาดการณ์ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน เศรษฐกิจมีความเสียหายไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้ที่ผ่านมาได้คาดการณ์ว่า ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน เศรษฐกิจมีความเสียหายไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท หอการค้าไทย เคยประเมินสถานการณ์ของเศรษฐกิจไทยว่า ช่วงไตรมาส 4 ปี 64 รัฐบาลจำเป็นต้องอัดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบผ่านมาตรการต่าง ๆ จำนวน 5 แสนล้านบาท และต้นปี 65 อีก 5 แสนล้านบาท ซึ่งการกู้จะต้องดูความเหมาะสมของสถานการณ์ เพราะขณะนี้รัฐบาลยังเหลือกรอบเงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้าน อีกกว่า 4.2 แสนล้านบาท ที่ยังสามารถใช้ได้อยู่
ขณะที่หนี้สาธารณะของไทยเวลานี้อยู่ที่ 55.59% ของจีดีพี ใกล้กับเพดานหนี้เดิมที่กำหนดไว้ไม่เกิน 60% หากพิจารณาถึงความจำเป็นภายใต้สถานการณ์ของโควิด-19 ในประเทศ เศรษฐกิจที่ซบเซา และต้องการมาตรกระตุ้นเศรษฐกิจในขนาดนี้ เอกชนจึงมองสอดคล้องกับรัฐบาลว่า มีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มเพดานหนี้ขึ้น ซึ่งจะช่วยเปิดช่องให้มีโอกาสออกฎหมายกู้เงินสำหรับใช้รับมือโควิดและกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เพื่อเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชะลออย่างหนัก เพราะหากไม่ดำเนินการในส่วนนี้ จะอาจจะเกิดความเสียหายมหาศาล หากธุรกิจทั้งรายเล็กและรายใหญ่ต้องปิดกิจการถาวร ต้องมีแรงงานตกงานอีกจำนวนมาก