นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย เปิดเผยว่า เห็นด้วยกับการขยายเพดานหนี้สาธารณะเป็น 70% ต่อจีดีพี เพื่อเปิดทางกู้เงินเพิ่ม แต่ต้องนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น การแจกเงินทำได้แต่แค่ประคองการใช้จ่ายในประเทศเท่านั้น แม้ดีกว่าไม่ทำอะไรเลยแต่ไม่ได้ช่วยในระยะยาว และควรนำเงินไปสนับสนุนการจ้างงานในชนบท หรือกระจายเงินลงสู่ท้องถิ่นไปลงโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการบริหารจัดการน้ำ สร้างสาธารณูปโภคต่าง ๆ สอดรับการย้ายแรงงานกลับถิ่นภูมิลำเนา

นอกจากนี้เงินกู้จะต้องมากระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศต่อเนื่อง เติมเงินให้ประชาชนผ่านกระเป็าอิเล็กทรอนิกส์ใช้จ่ายกระตุ้นการท่องเที่ยว ร้านค้าขนาดเล็ก ธุรกิจเอสเอ็มอี แต่ระยะยาวคงจะเห็นรัฐบาลเก็บภาษีเพิ่มเติม เช่น ขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ซึ่งเป็นการขึ้นภาษีง่ายได้ผลเร็ว แต่ผลกระทบก็จะตกไปอยู่กับประชาชนคนรายได้น้อย เพราะภาษีแวตส่วนใหญ่เก็บจากการบริโภค ซึ่งกระทบกับคนรายได้น้อยได้ หรืออาจจะเลือกขึ้นภาษีที่ดิน สินทรัพย์อื่นๆ เป็นต้น

ขณะเดียวกันภาครัฐต้องทำคู่กับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจให้ ธปท.อัดฉีดเงินหรือทำคิวอี ด้วยการซื้อพันธบัตรจะซื้อตรงหรือในตลาดรองก็ได้ เพื่อไม่ให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเพิ่ม กระทบต่อต้นทุนของภาคเอกชน และการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะประชุมวันที่ 29 ก.ย.นี้ อาจปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อทิ้งทวนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก่อนตลาดการเงินโลกจะกลับทิศไปสู่ดอกเบี้ยขาขึ้น

“จีดีพี​ไทยในอนาคต​ยังเสี่ยงโตช้าจากปัญหาเชิงโครงสร้าง​ เช่น สังคมสูงอายุ​ ศักยภาพ​การเติบโตทางอาจอยู่ต่ำ​ 3% แต่ต่อให้เป็นเช่นนั้น​ ก็ยังไม่น่ากระทบอันดับความน่าเชื่อถือ​ของประเทศ​ เพราะหนี้ที่ว่ายังต่ำกว่าประเทศอื่น​ เว้นแต่รัฐบาลในอนาคตจะประสบปัญหา​อีกครั้ง​ เพราะวิกฤติ​เศรษฐกิจ​นี้ไม่ใช่ครั้งสุดท้าย”