เมื่อวันที่ 22 พ.ย. สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย

พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลัง พ.ศ. 2561 มาตรา 53 บัญญัติให้กระทรวงการคลังมีอำนาจกู้เงินโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเป็นการเฉพาะ และเฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขวิกฤติของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน

การตรากฎหมายเพื่อกู้เงินจำนวน 500,000 ล้านบาทโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 53 ดังกล่าว รัฐบาลมีอำนาจตราขึ้นเป็นพระราชกำหนดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 172 หรือจะเสนอเป็นร่างพระราชบัญญัติเพื่อให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 133 (1) ก็ได้ ส่วนประเด็นว่า “เป็นกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขวิกฤติของประเทศ” หรือไม่ เป็นดุลพินิจของฝ่ายบริหารโดยสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นผู้ตรวจสอบดุลพินิจดังกล่าว

ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน  คำว่า “วิกฤติ หรือ วิกฤต” เป็นคำวิเศษณ์แปลว่า “อยู่ในขั้นล่อแหลมต่ออันตราย หรืออยู่ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อ” ดังนั้น การที่เศรษฐกิจของประเทศอยู่ในภาวะวิกฤติจึงหมายถึงเศรษฐกิจของประเทศอยู่ในขั้นล่อแหลมต่ออันตราย หรืออยู่ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อ ซึ่งเป็นดุลพินิจของฝ่ายบริหารที่จะเป็นผู้พิจารณา หากเห็นว่าการที่ประเทศมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำติดต่อกันมาเป็นเวลานาน ถือเป็นภาวะที่ล่อแหลมต่ออันตรายทางเศรษฐกิจของประเทศ ก็ย่อมมีอำนาจที่จะเสนอร่างพระราชบัญญัติกู้เงินจำนวนดังกล่าวเพื่อนำมากระตุ้นเศรษฐกิจได้

ส่วนที่หลายฝ่ายโต้แย้งว่า เศรษฐกิจของประเทศไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤติจึงไม่อาจกู้เงินตามกฏหมายดังกล่าวได้และจะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย นั้น เห็นว่าพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐไม่ใช่รัฐธรรมนูญ ศาลจึงไม่มีอำนาจวินิจฉัย นอกจากนี้การวินิจฉัยว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนและประเทศอยู่ในภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจหรือไม่ รวมถึงควรกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวิธีใดถือเป็นประเด็นทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นดุลพินิจของฝ่ายบริหารโดยแท้ มิได้เป็นประเด็นทางกฎหมายที่จะอยู่ในอำนาจวินิจฉัยของศาล

นรินท์พงศ์ จินาภักดิ์

นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย

22 พฤศจิกายน 2566