เรียกได้ว่าตลอดช่วงเช้าของวันที่ 19 พ.ย. 2566 ทั้งบนจอทีวีหรือตามโซเชียลต่างคึกคักกันสุด ๆ กับการประกวด Miss Universe 2023 ครั้งที่ 72 ที่ประเทศเอลซัลวาดอร์ ซึ่งตัวแทนจากประเทศไทยคือ Anntonia Porsild (แอนโทเนีย โพซิ้ว) ลูกครึ่งสาวชาวไทย เชื้อสายเดนมาร์ก
โดยเฉพาะในช่วงวินาทีประวัติศาสตร์ของการตอบคำถามรอบตัดสิน Final Competition ของสาวงาม 3 คนสุดท้าย กับคำถามสุดหินโดยพิธีกรถามว่า “ถ้าคุณสามารถเลือกใช้ชีวิตเป็นผู้หญิงอีกคนได้ 1 ปี คุณจะเลือกเป็นใคร พร้อมบอกเหตุผล” โดยสาวงามจากไทยแลนด์ แอนโทเนีย โพซิ้ว ก็ได้ตอบด้วยสีหน้ามั่นใจและยิ้มพร้อมพูดว่าขอเป็น “มาลาลา ยูซาฟไซ” สาวปากีสถานผู้เคยเผชิญหน้ากับความตายที่ต่อสู้กับตาลีบัน
สำหรับประวัติ “มาลาลา ยูซาฟไซ” เกิดเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2540 เป็นเด็กนักเรียนจากเมืองมินโกราในเขตสวัต (Swat District) แคว้นแคบาร์ปัคตูนควา ประเทศปากีสถาน เธอเป็นที่รู้จักในการศึกษาและการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิสตรีของเธอในหุบเขาสวัต ซึ่งตาลีบันบางครั้งห้ามเด็กหญิงมิให้เข้าศึกษาในโรงเรียน ต้นปี 2552
ขณะอายุได้ 11 ขวบ ยูซาฟไซกลายมาเป็นที่รู้จักผ่านบล็อกที่เธอเขียนให้แก่บีบีซี โดยรายละเอียดกล่าวถึงชีวิตของเธอภายใต้ระบอบตาลีบัน ความพยายามของตาลีบันในการเข้าควบคุมหุบเขา และมุมมองของเธอต่อการสนับสนุนการศึกษาแก่เด็กหญิง ฤดูร้อนปีต่อมา มีการถ่ายทำสารคดีของนิวยอร์กไทมส์ เกี่ยวกับชีวิตของเธอขณะที่กองทัพปากีสถานเข้าแทรกแซงในภูมิภาค
“มาลาลา ยูซาฟไซ” เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น ให้สัมภาษณ์ในสื่อสิ่งพิมพ์และทางโทรทัศน์ และรับตำแหน่งประธานสภาเด็กเขตสวัต (District Child Assembly Swat) นับแต่นั้น เธอได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลสันติภาพเด็กระหว่างประเทศโดยเดสมอนด์ ตูตู และได้รับรางวัลสันติภาพเยาวชนแห่งชาติเป็นคนแรกของปากีสถาน
วันที่ 9 ตุลาคม 2555 “มาลาลา ยูซาฟไซ” ถูกยิงที่ศีรษะและคอในความพยายามลอบสังหารโดยมือปืนตาลีบันขณะกำลังกลับบ้านบนรถโดยสารประจำทางโรงเรียน หลายวันหลังจากนั้น เธอยังหมดสติและอยู่ในภาวะวิกฤติ และจนถึงวันที่ 15 ตุลาคม เธอถูกส่งตัวไปยังสหราชอาณาจักรเพื่อรับการรักษาเพิ่มเติม
ในวันที่ 10 ตุลาคม 2557 มูลนิธิโนเบลได้ประกาศให้เธอได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ร่วมกับไกลาศ สัตยาธี จากการต่อสู้ของเด็กเพื่อความถูกต้องของการศึกษาในเด็กทั้งหมด ถือเป็นผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลที่อายุน้อยที่สุด ด้วยวัย 17 ปี
การศึกษา
– โรงเรียนคูชาล (2012)
– โรงเรียนมัธยม Edgbaston (2013–2017)
– วิทยาลัยเลดี้มาร์กาเรต, มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (ตั้งแต่ ตุลาคม 2017)
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ : @วิกิพีเดีย, @malala