ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ได้ประกาศให้อัตราการจ่ายคืนขั้นต่ำของบัตรเครดิต ทยอยกลับเข้าสู่อัตราปกติ ขณะนี้ธนาคารแต่ละแห่งได้แจ้งลูกค้าสื่อสารในเรื่องของปรับเกณฑ์จ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิตให้ลูกค้ารับทราบแล้ว

ทั้งนี้ แจ้งประกาศปรับอัตราการจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิต จาก 5% เป็นอัตรา 8% ของยอดเงินตามใบแจ้งรายการในแต่ละเดือน โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567-31 ธันวาคม 2567 และจะปรับเป็นอัตราปกติที่ 10% ในปี 2568 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ แบงก์ชาติ ได้ให้ธนาคารเตรียมแนวทางดูแลลูกหนี้ที่ไม่สามารถปรับเพิ่มอัตราการจ่ายขั้นต่ำได้ เช่น การโอนเปลี่ยนประเภทหนี้เป็นเทอมโลน หรือแบบมีระยะเวลา และกำหนดงวดการจ่ายให้สอดคล้องกับความสามารถชำระหนี้

ก่อนหน้านี้ เมื่อช่วงเดือน ส.ค.66 ที่ผ่านมา น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ให้ข้อมูลจากประเมินเบื้องต้นมีลูกหนี้จ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิตเกิน 10% มีจำนวนไม่ต่ำกว่า 70-80% และมีส่วนน้อยจ่ายขั้นต่ำไม่เกิน 5% แต่เข้าใจบางคนไม่มีความสามารถจ่ายหนี้ได้จริง เพราะการฟื้นตัวเศรษฐกิจไม่ทั่วถึง

“มองว่าจะส่งผลดีต่อลูกหนี้ที่ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่ม โดยการปรับจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิตได้ปรับลดลงมาในช่วงโควิดมาอยู่ที่ 5% เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ ตอนนี้การจ่ายขั้นต่ำได้ทยอยกลับมาเป็นปกติ 8% ปี 67 และ 10% ปี 68 ซึ่งเป็นอัตราตามปกติ”

เปรียบเทียบการจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิต : การจ่ายขั้นต่ำไปเรื่อยๆ จะมีดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น เช่น
วงเงินกู้ 80,000 บาท ดอกเบี้ย 16% จ่ายขั้นต่ำ 5% จะปิดหนี้ใช้เวลาถึง 10 ปี 3 เดือน ต้องจ่ายดอกเบี้ยรวม 28,000 บาท
ถ้าจ่ายขั้นต่ำ 8% จะปิดหนี้ได้ 6 ปี 3 เดือน จ่ายดอกเบี้ย 16,000 บาท
-แต่หากจ่ายขั้นต่ำ 10% จะใช้เวลาปิดหนี้เพียง 5 ปี จ่ายดอกเบี้ยรวม 12,000 บาท

“เห็นว่าแม้ลูกหนี้ต้องผ่อนชำระค่างวดมากขึ้น แต่สามารถนำค่างวดไปตัดชำระเงินต้นได้มากขึ้น จึงทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยและสามารถปิดจบหนี้ได้เร็ว”