ภาพยนตร์ที่กลายเป็นปรากฏการณ์นาทีนี้ ต้องยกให้ “สัปเหร่อ” จาก จักรวาลไทบ้าน ที่ตอนนี้กวาดรายได้ 700 ล้านบาทไปแล้ว อีกทั้งยังได้โกอินเตอร์ กำลังจะเข้าฉาย 9 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น, สิงค์โปร์, ไต้หวัน, มาเลเชีย, พม่า, เวียดนาม, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเชีย และกัมพูชา ซึ่งหนึ่งในประเด็นที่หลายคนสนใจ คือการมองว่า “สัปเหร่อ” นั้นเป็น “Soft Power” ในมิติของอุตสาหกรรมภาพยนตร์
และล่าสุด ต้องเต – ธิติ ศรีนวล ผู้กำกับ เขียนบท ตัดต่อ ทำซาวด์สกอร์ และร่วมแสดงในหนัง“สัปเหร่อ” ได้มาร่วมงานเสวนา “จากจักรวาลไทบ้านสู่พลังอีสานสร้างสรรค์” เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนมุมมอง การต่อยอด และส่งต่อพลังอีสานจากท้องถิ่นสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งจัดโดย ไทยพีบีเอส ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ศิลปิน ผู้ประกอบการ และภาคีเครือข่ายถึงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ Creative Economy ซึ่งในงานยังร่วมด้วย อวิรุทธ์ อรรคบุตร ทีมอำนวยการสร้างภาพยนตร์สัปเหร่อ และจักรวาลไทบ้าน , อัจฉริยะ ศรีทา นักแสดงเรื่องสัปเหร่อในบท “สัปเหร่อศักดิ์” และอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ , สุชาติ อินทร์พรหม ผู้ก่อตั้งวง “อีสานนครศิลป์” , ขจรเดช พรมรักษา มือกลองวงบิ๊กแอส โปรดิวเซอร์และนักแต่งเพลง และ สมยศ เกียรติอร่ามกุล รอง ผอ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่ง
เมื่อถูกถามประเด็นเกี่ยวกับ Soft Power ต้องเต บอกว่า “จริงๆ หนังของผมมันน่าจะเดินสุดได้แค่ประมาณนี้แหละครับ แต่ผมคาดหวังว่าเรื่องต่อๆ ไป ไม่ใช่เรื่องของผมนะครับ แต่หมายถึงเรื่องต่อๆ ไปในวงการอุตสาหกรรม (ภาพยนตร์) เพราะว่าเหมือนเราอาจสร้างปรากฏการณ์หรือเป็นกระแส จากกระแสที่ไม่มีคนพูดถึงกลายเป็นกระแสหลัก แล้วทำให้วงการภาพยนตร์ รู้สึกเอ๊ะ! และวงการอื่นๆ อย่างรัฐบาล เข้ามาเห็นเข้ามามองเห็นอย่างนี้ ซึ่งผมว่าถ้ามันมีเรื่องอื่นที่มันดี ที่มันมาพาเขาไป คือให้มาซัพพอร์ทจริงๆ หน่อย ไม่ใช่แค่มาถ่ายรูป คุณอาจจะไม่ได้เข้าใจหนังสัปเหร่อจริงๆ เลยก็ได้ แค่มาถ่ายรูปแล้วก็บอกว่า เอ้ย หนังสัปเหร่อเป็น Soft Power อย่างนี้ อย่างตัวผมเองยังไม่รู้เลยว่า Soft Power มันคืออะไร ตอนผมทำนะครับ เอ้า! มันเป็น Soft Power ใช่หรอ?! ผมยังไม่รู้เลย ถ้าผมได้รู้หรือทำความเข้าใจว่า Soft Power มันคืออะไร หนังมันไปไกลกว่านี้ หนังมันมี Soft Power จริง ๆ แน่นอน ดังนั้นเลย ถ้ามันมีการพูดคุยหรือเสวนาในวงการที่คุณต้องการจะเอา Soft Power ให้เผยแพร่ต่อต่างประเทศ จะพาเขาไปแบบนี้ ให้พาไปจริงๆ ไม่ใช่แค่หนังเรื่องนี้โก อินเตอร์ อย่างเช่นไป 9 ประเทศนี้ก็ไม่ใช่เขาพาไปนะครับ ก็คือหนังมันไปเอง แล้วเราก็ไปขายเอง มันไม่ใช่รัฐบาลทำไง อันนี้ก็พูดตรงๆ ครับ”
ขณะที่ อวิรุทธ์ อรรคบุตร มองว่า “ฝั่งของทีมบริหารและทีมฝั่งอำนวยการสร้าง ก็มีการนั่งคุยกันว่า เราจะทำอย่างไรในส่วนของ Soft Power ต่อ เราก็กลับมามองชุมชน เพราะหลังจากนี้เราก็จะมีงานคอนเสิร์ตไทบ้านแลนด์ที่จะไปใช้ในพื้นที่ เราก็คิดว่ามันน่าจะทำให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น ในจังหวัดมีการกระเตื้องเรื่องเศรษฐกิจมากขึ้น ก็คิดว่าจะมีทัวร์เล็ก ๆ พาทัวร์สถานที่ถ่ายทำหนัง แล้วให้คนในชุมชนเตรียมสินค้าในชุมชน หลังจากนี้ก็มีอยากต่อยอดให้โอกาสคนทำหนัง ให้มีการส่งเสริม อาจจะมีโครงการหรือการผลักดันบางส่วนในสมาคมหนังอีสานด้วยเหมือน เพื่อที่จะนำโอกาสที่เราได้มา ไปต่อยอดให้คนที่ยังไม่ได้โอกาสในจุดนั้น”
เรียกว่าเป็นเสียงจากคนทำหนังรายเล็กที่ส่งถึงผู้มีอำนาจในการผลักดันอุตสาหกรรมภาพยนตร์ แต่หลังจากที่มีการเผยแพร่ประเด็นดังกล่าว ก็ส่อเค้าจะเป็นดราม่าเบา ๆ และเป็นที่วิจารณ์อย่างกว้างขวางในโลกโซเชียล โดยมีทั้งคนที่เห็นด้วยกับ ต้องเต และอยากเห็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ส่งเสริมให้เป็น Soft Power อย่างเป็นรูปธรรม มากกว่าแค่ไปถ่ายรูปกับหนังที่ประสบความสำเร็จไปแล้ว และยังมีหนังไทยอีกมากมายที่รอการสนับสนุน ขณะเดียวกัน ก็มีเสียงอีกฝั่งมองว่ารัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ และ นายเศรษฐา ทวีสิน นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี นั้นยังเพิ่งจัดตั้งได้ไม่นาน อีกทั้งก็มีนโยบาย และ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ว่าด้วย Soft Power จึงอยากให้เวลารัฐบาลชุดนี้ในการทำงานก่อน
อย่างไรก็ดี คำว่า “Soft Power” หรือ “อำนาจอ่อน” เป็นทฤษฏีที่ถูกพัฒนาขึ้นโดย ศาสตราจารย์ โจเซฟ เนย์(Joseph S. Nye) ผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์จากสถาบันจอห์น เอฟ เคนเนดี มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดยแบ่งเป็นแนวคิดเรื่อง Hard Power และ Soft Power ซึ่ง Soft Power นั้นเป็นการใช้อิทธิพลทางวัฒนธรรม คุณค่าทางสังคม เพื่อเชื้อเชิญให้ผู้คนสนใจแล้วอยากทำตาม เช่น ฮันรยู หรือ กระแสความนิยมเกาหลีฟีเวอร์ ทั้งจากผลงานซีรีส์เกาหลี ,ภาพยนตร์เกาหลี รวมทั้ง ศิลปิน K-POP ที่มาพร้อมการสอดแทรกวัฒนธรรม วิถีชีวิต ความเชื่อ ค่านิยม ไปในสื่อ กิจกรรม หรือบุคคลเหล่าเหล่านั้น
ทั้งนี้เมื่อหันกลับมามองในมุมของหนัง “สัปเหร่อ” หากต้องการต่อยอด Soft Power ไปสู่เวทีโลกนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่ต้องใช้การสนับสนุนอย่างเต็มรูปแบบจากทางรัฐบาล เริ่มต้นตั้งแต่การนำตัวหนังไปฉายยังนานาประเทศให้ได้ มากไปกว่านั้น เมื่อมองดูที่เรื่องราวของ “สัปเหร่อ” ก็พบเต็มเปี่ยมไปด้วยเสน่ห์ของวัฒนธรรม วิถีชีวิต ความเชื่อ และค่านิยม ของพี่น้องชาวอีสาน แถมในหนังยังใช้ภาษาถิ่นเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะภูมิภาค อีกทั้งโลเคชั่นหลักของ “จักรวาลไทบ้าน” นั้นเกิดขึ้นที่ บ้านโนนคูณ ต.โนนคูณ อ.ยางชุมน้อย จ.ศรีสะเกษ ซึ่งน่าจะสามารถต่อยอดให้เห็นถึงความสวยงามของจังหวัดนี้ รวมทั้งของดีตัวจังหวัดได้ ทั้ง ทุเรียนภูเขาไฟ , ไก่ย่างไม้มะดัน หรือจะเป็นเทศกาลผลไม้และของดีจังหวัด รวมทั้งพาตามรอยโลเคชั่นที่ถ่ายทำหนัง ก็อาจดึงดูดเม็ดเงินจากผู้ชื่นชอบ “สัปเหร่อ” หรือ “จักรวาลไทบ้าน” ลงสู่ท้องถิ่นได้ไม่น้อย
อีกทั้ง “สัปเหร่อ” ยังเป็นเหมือนใบเบิกทางให้ภาพยนตร์อีสานเรื่องอื่น ๆ ในการสอดแทรกวัฒนธรรม ประเพณีอันเลื่องชื่อของภูมิภาคนี้ได้อีกด้วย ทั้งประเพณีผีตาโขน , บั้งไฟพญานาค , เทศกาลขึ้นเขาพนมรุ้ง และ ไหลเรือไฟ เป็นต้น ซึ่งทุกประเพณีล้วนงดงาม และมีมนตร์ขลัง อีกทั้งยังมีอาหารอีสานที่มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ และสามารถผลักดันเป็น Soft Power ได้ไม่ยาก ซึ่งทางเกาหลีใต้ก็ทำสำเร็จให้เห็นมาแล้ว ผ่านการนำเสนอภาพซ้ำ ๆ ทั้งในหนัง , ซีรี่ส์ ไปจนถึงรายการต่าง ๆ จนคนต่างชาติอยากกินอาหารเกาหลีตามเป็นแถว นอกจากนี้ภาคอีสานยังมีสถานที่ท่องเที่ยวสวยงาม และที่อัดแน่นด้วยศิลปะอีกมากมาย รวมถึงเรื่องของเสื้อผ้าเครื่องแต่ง ที่ล้วนสะท้อนความเป็นไทยถิ่นอีสานที่ไม่เหมือนใคร นอกจากนี้ยังมีเสียงดนตรีที่ไพเราะ เช่น พิณ แคน หรือการแสดงหมอลำ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถ่ายทอดลงไปในผลงานทั้งละคร หนัง และหากได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มกำลังจากภาครัฐในทุกมิติ ก็น่าจะทำให้คนต่างชาติสนใจ และอยากมาสัมผัสความสวยงามเหล่านี้ที่เมืองไทย พร้อมนำรายได้เข้าประเทศและลงสู่ท้องถิ่นได้
ทั้งหมดนี้ก็เชื่อว่าหากได้รับการสนับสนุนจริงจังจากภาครัฐ คำว่า “Soft Power” ของวงการภาพยนตร์ไทย คงไม่ไกลเกินจริง!
ภาพ / คลิป : Thibaan Channel , Thai PBS