ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 15 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย  อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์  บรูไนดารุสซาลาม เวียดนาม ลาว เมียนมา กัมพูชา จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เป็นภาคเกษตรกรรมใช้น้ำประมาณ 90% สูงกว่าอย่างมากเมื่อเทียบกับภาคการเกษตรกรรมทั่วโลกที่มีการใช้น้ำจืดโดยเฉลี่ย 75% ของปริมาณน้ำจืดทั้งหมด โดยที่ 3 ใน 4 ของแหล่งน้ำจืดในภูมิภาคมีความไม่แน่นอน ทำให้ประชากรมากกว่า 90% ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีความเสี่ยงสูงที่จะเผชิญวิกฤตการเข้าถึงน้ำ

ต้องการใช้สูงแต่แหล่งน้ำลด

ความต้องการน้ำในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิกมีในแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากประชากรมีจำนวนเพิ่มขึ้นของ การเติบโตทางเศรษฐกิจ การขยายตัวของเมือง และการบริโภคผลิตภัณฑ์เกษตรที่ต้องพึ่งพาน้ำจำนวนมาก ขณะที่น้ำจืดกำลังมีปริมาณลดลง อีกทั้งมลพิษของน้ำมีความรุนแรงขึ้นอย่างมาก และภาวะโลกร้อนกำลังส่งผลต่อแหล่งน้ำจืด

ภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบทั้งในด้านการเกิดขึ้นของแหล่งน้ำ คุณภาพ และเข้าถึงแหล่งทรัพยากรน้ำจืด นอกจากนั้นภาวะฝนตกรุนแรง น้ำท่วม ความแห้งแล้ง และการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลกำลังเป็นภัยคุกคามต่อความั่นคงของแหล่งน้ำจืดในภูมิภาค และความปลอดภัยสำหรับใช้ดื่ม สุขอนามัย และการผลิตอาหาร

เข้าถึงน้ำจืดล้ำค่ายังวืดเป้า  

“จอง จิน คิม” ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือเอฟเอโอ  ระบุว่า เราต่างตระหนักดีว่า การสร้างความมั่นคงให้กับการใช้และการเข้าถึงทรัพยากรน้ำจืดอันล้ำค่าอย่างยั่งยืนนั้นสำคัญต่อภาพรวมของการบรรลุเป้าหมายวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ปี 2573 เป็นเรื่องน่าเสียดายว่าเรายังห่างไกลจากเป้าหมายมาก การขาดแคลนน้ำกำลังรุนแรงขึ้นอย่างน่าตกใจ ตามการคาดการณ์ของเราความต้องการใช้น้ำจืดจะสูงเกินปริมาณประมาณ 40% ภายในปี 2616 ดังนั้นการบริหารจัดการการขาดแคลนน้ำ โดยทำให้การบริโภคและการใช้ทรัพยากรน้ำเป็นไปอย่างยั่งยืนจะเป็นความท้าทายที่สำคัญสูงสุดในศตวรรษที่ 21 นี้

ทรัพยากรน้ำใต้ดิน ซึ่งเกษตรกรจำนวนมากต้องพึ่งพาถูกใช้งานเกินพอดี และปนเปื้อน ในขณะที่รูปแบบของฝนตกมีความแปรปรวน สร้างความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นให้กับการวางแผนชลประทาน ท้ายที่สุดเกษตรกรจึงต้องการความสนับสนุนและเครื่องมือที่เหมาะสม เพื่อสามารถเป็นตัวแทนผลักดันการบริหารจัดการน้ำที่ยั่งยืนและทนทานต่อสภาพอากาศ โดยผู้วางนโยบายภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และผู้บริโภค ต่างมีบทบาทสำคัญในการบรรเทาความไม่สมดุลระหว่างปริมาณและการใช้น้ำจืดด้วยเช่นกัน

แนะเปิดส่วนร่วมแก้ปัญหา

“ดิพัค กิววาลี” จากสถาบันวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีแห่งเนปาล อดีตรมว.ทรัพยากรน้ำ มองว่า ภาวะโลกร้อนได้เพิ่มความท้าทายให้ความเกี่ยวโยงกันระหว่างน้ำ พลังงาน และอาหารที่มีความซับซ้อนมากอยู่แล้ว แนวทางการพัฒนาที่มุ่งเป้าหมายเดียวมักสร้างผลกระทบที่เป็นลบ และผลักภาระให้ภาคอื่นๆ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาโดยรวม หน่วยงานทั้งในระดับประเทศ และระดับนานาชาติที่หวังจะแก้ปัญหาที่ยากเย็นนี้ให้สำเร็จ จึงต้องดำเนินนโยบาย โดยคำนึงถึงกลุ่มทางสังคมที่ทำงานอย่างโดดเดี่ยว หรือกำลังทำงานอย่างหนัก และเปิดให้กลุ่มเหล่านั้นมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ และแสดงความคิดเห็นด้านนโยบาย

องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ยังมีบทบาทอย่างมากในการนำเสนอทางออกเพื่อรับมือกับความท้าทายที่เกี่ยวข้องการขาดแคลนน้ำ และภัยพิบัติด้านน้ำเหล่านี้ รวมถึงภัยแล้งและน้ำท่วม ซึ่งในหลายๆ กรณีส่งผลกระทบต่อครอบครัวของเกษตรกรอย่างหนักหน่วงกว่าภาคอื่นๆ

หนึ่งในโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ในภูมิภาคนี้ได้รวมถึงโครงการจัดการการขาดแคลนน้ำ ซึ่งมีเป้าหมายจำกัดการใช้น้ำให้อยู่ในขอบเขตของความยั่งยืน และเตรียมให้ประเทศในภูมิภาค มีความพร้อมสำหรับการพัฒนาในอนาคตโดยที่มีการใช้น้ำน้อยลง โครงการนี้ดำเนินไปโดยได้รับความร่วมมือจากพันธมิตร และกำลังมอบความช่วยเหลือแก่ประเทศในภูมิภาคให้บริหารจัดการน้ำบนพื้นฐานของข้อเท็จจริง ให้สอดคล้องกับภาวะขาดแคลนน้ำที่กำลังรุนแรงขึ้น นอกจากนี้ยังได้ก่อตั้งแพลตฟอร์มสำหรับความร่วมมือในระดับภูมิภาค เพื่อช่วยให้ประเทศต่างๆได้ร่วมแบ่งปันแนวทางในการแก้ปัญหา ความรู้ และประสบการณ์

ทั้งนี้ปัจจุบันประชากรกว่า 780 ล้านคน ต้องพึ่งพาแม่น้ำที่ไหลผ่านหลายเขตแดนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โครงการ Transboundary Water Programme ของเอฟเอโอ ทำให้ประเทศต่างๆพัฒนาความร่วมมือข้ามพรมแดนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่ใช้ร่วมกันในภูมิภาค โดยเสริมสร้างศักยภาพด้านความรู้ที่จำเป็น เช่น การจัดทำบัญชีน้ำ การจัดสรรน้ำ การประเมินการไหลของน้ำในสิ่งแวดล้อม การพัฒนากลไกเพื่อบริหารจัดการภัยน้ำท่วมข้ามพรมแดนและการกัดกร่อนดินอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการลดแรงกดดันต่อแหล่งน้ำที่ถูกใช้งานมากเกินไป.