ภาพยนตร์ไทยจาก Netflix ที่กำลังเป็นที่นิยม “มนต์รักนักพากย์” (Once Upon A Star) ซึ่งมีเนื้อหาพาผู้ชมย้อนไปยังยุค ’60s บอกเล่าเรื่องราวของ “หนังเร่ขายยา” ที่เลือนหายตามกาลเวลา

“ลุงหมาน” หนึ่งในตัวละครหลักของเรื่อง เป็นพนักงานของบริษัทโอสถเทพยดา รับหน้าที่ขับรถพาคณะของ “หัวหน้ามานิตย์” ไปโชว์ยังสถานีที่ต่างๆ

ลุงหมาน เป็นคุณลุงอารมณ์ดี เข้าได้กับทุกคน และไม่มีเป็นพิษภัยต่อคนรอบข้าง และนักแสดงที่มารับบทนี้ ก็คือคนที่แฟนกีฬา โดยเฉพาะแฟนมวยรู้จักกันดี

“สามารถ พยัคฆ์อรุณ”

กว่าจะมาเป็นลุงหมานผู้ใจดี “พี่มาด” ถือว่า ต้องผ่านอุปสรรคมาไม่ใช่น้อยเลยทีเดียว และเป็นมายังไง ถึงผันตัวจาก “นักมวย” มาเป็น “นักแสดง” วันนี้มาย้อนความหลังกันสักหน่อย


“สามารถ พยัคฆ์อรุณ” ชื่อจริงว่า “สามารถ ทิพย์ท่าไม้” เป็นลูกของ นายสมนึก และ นางเมค ทิพย์ท่าไม้ ลืมตาดูโลกเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2505 ที่อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา

สามารถ เริ่มฝึกเพลงมวยตั้งแต่ 11 ขวบ ใช้ชื่อว่า “สามารถ ลูกคลองเขต” สามารถ ยังเป็นน้องชายแท้ ๆ ของยอดมวย “ก้องธรณี พยัคฆ์อรุณ”

เขาขึ้นชกมวยไทยครั้งแรก เมื่อปี 2517 ที่จังหวัดชลบุรี เพียงแค่แมตช์แรก สามารถ ก็เอาชนะคะแนน เพชรอรุณ ศิษย์นิมิต ได้อย่างน่าประทับใจ

หลังจากนั้น สามารถ เดินสายตะเวนชกทั่วภาคตะวันออกไปกว่าร้อนสังเวียน ก่อนจะเข้ามาชกที่กรุงเทพฯ ครั้งแรก ที่ “ลุมพินี” เมื่อปี 2522

สามารถ เป็นมวยที่มีลีลางดงาม สายตาดี มากไปด้วยชั้นเชิง บวกกับความหน้าตาดี จึงถูกขนานนามว่า “เพชฌฆาตหน้าหยก”

ในวัยหนุ่ม สามารถ ประสบความสำเร็จในวงการมวยไทยเป็นอย่างมาก คว้าแชมป์สนามมวยลุพินี 4 รุ่น ได้แก่ รุ่นพินเวต (105 ปอนด์), รุ่นจูเนียร์ฟลายเวต (108 ปอนด์), รุ่นจูเนียร์แบนตั้มเวต (115 ปอนด์) และรุ่นเฟเธอร์เวต (126 ปอนด์)

จนกระทั่งในปี 2526 “เพชณฆาตหน้าหยก” เริ่มหันหางเสือเข้าสู่วงการมวยสากล

และมันก็ไม่ต่างจากการชกมวยไทย เพียงไฟต์แรก “สามารถ” ก็เอาชนะคะแนน เนตรน้อย ศ.วรสิงห์ และนับจากนั้น 9 ไฟต์ เขาชนะน็อกทั้งหมด

กระทั่งได้ขึ้นชิงแชมป์โลกครั้งแรกของสภามวยโลก (WBC) ในรุ่นซูเปอร์แบนตั้มเวต คู่ชกเป็นนักมวยจากเม็กซิกัน ชื่อ “กัวดาลูเป ปินตอร์” ผลจบลงในยกที่ 5 สามารถ เอาชนะน็อกไปได้อย่างยอดเยี่ยม คว้าเข็มขัดแชมป์โลกมาครองสำเร็จ

ถือเป็นแชมป์โลกคนที่ 10 ของประเทศไทย

อีกหนึ่งผลงานสร้างชื่อคือไฟต์ป้องกันแชมป์ครั้งแรกกับ “ฆวน คิด เมซา” ชาวเม็กซิกัน ซึ่งจบด้วยผลชนะน็อก TKO ในยกที่ 12

ชอตเด็ดมวยมันส์ประจำไฟต์เห็นกันประจำ คือเป็นจังหวะที่เขาหลังติดเชือก แต่โยกหลบหมัดจากผู้ท้าชิงกว่า 20 หมัด ก่อนจะสวนด้วยหมัดตรงเข้าปลายคาง ส่งนักชกเม็กซิกันเข้านอนบนเวที

แต่หลังป้องกันแชมป์ครั้งแรกได้ เขาเริ่มเฉลิมฉลองจนติดเป็นนิสัย กลายเป็นนักมวยเจ้าสำราญ ส่งผลให้การขึ้นป้องกันแชมป์ครั้งที่ 2 สามารถ มีปัญหาเรื่องความฟิต และน้ำหนักตัวที่เกิน จึงต้องเข้าโปรแกรมลดน้ำหนักอย่างเต็มที่

ด้วยเหตุนี้ “เพชฌฆาตหน้าหยก” จึงขึ้นชกด้วยความเหนื่อยล้า ก่อนจะพ่าย เจฟฟ์ เฟเนค แบบ TKO ในยกที่ 4 พลาดการป้องกันแชมป์ครั้งที่ 2 ด้วยฟอร์มที่หลุดลุ่ย

ทำให้แฟนมวยต่างตั้งข้อสงสัยว่า สามารถ ล้มมวยหรือเปล่า ซึ่งเขาตอบข้อสงสัยด้วยด้วยการเข้าพิธีสาบานที่วัดพระแก้ว รวมถึงหายไปบวชระยะหนึ่ง

หลังเสียแชมป์โลก “สามารถ” กลับมาชกมวยสากลอีก 2 ครั้ง และหวนสู่วงการมวยไทยอีกครั้ง ซึ่งก็ยังคงประสบความสำเร็จเหมือนเคย ด้วยการเอาชนะยอดมวยหลายคนในยุคนั้น

จนปี พ.ศ. 2531 สามารถ ได้รับรางวัลนักมวยยอดยเยี่ยมจากสมาคมผู้สื่อข่าวกีฬา ด้วยผลงานไร้พ่ายในปีเดียวกัน

ไฟต์สุดท้ายในการชกมวยไทย สามารถ ขึ้นชกกับ “วังจั่นน้อย ส.พลังชัย” มันเกิดขึ้นในช่วงที่เขาเริ่มมีชื่อเสียงในวงการบันเทิง จึงเกิดการปล่อยตัวและซ้อมไม่เพียงพออีกครั้ง

จนสุดท้ายก็พ่ายคู่แข่งไปอย่างบอบช้ำ ก่อนจะประกาศเลิกชกมวยไทย

แต่ในปี 2536 สามารถ กลับมาชกมวยสากลอีกครั้ง และแม้จะหายจากวงการไปนาน แต่ด้วยชั้นเชิงที่เหนือชั้น ทำให้อุ่นเครื่องชนะ 5 ไฟต์รวมด

ก่อนมีโอกาสขึ้นชิงแชมป์โลก รุ่นเฟเธอร์เวต ของ WBA กับ “เอลอย โรฮัส” นักมวยชาวเวเนซุเอลา แต่ก็จบลงเหมือนมวยไทย ที่เขาแพ้ TKO ในยกที่ 8

สิ้นสุดเส้นทางของ “เพชฌฆาตหน้าหยก” ในปี 2537

ด้วยบุคลิกที่โดดเด่น และรูปร่างหน้าตาที่ดีไม่แพ้พระเอก ทำให้ สามารถ ถูกชักชวนเข้ามาทำงานในวงการบันเทิง ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จไม่แพ้วงการมวยเลยทีเดียว

เปิดตัวด้วยผลงานการออกอัลบั้มกับ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ในชุด “ร็อกเหน่อ ๆ”

เพลงที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเห็นก็คือ ‘อ่อนซ้อม’ ที่มีเนื้อเพลงคล้ายการล้อเลียนชกมวยของตัวเอง ที่มักจะถูกมองว่าซ้อมน้อย

หลังจากนั้น สามารถ ได้ออกอัลบั้มอีกหลายชุด และได้ถ่ายแบบ แสดงหนัง ละคร หลายต่อหลายเรื่อง กลายเป็นดาราชั้นแนวหน้าด้วยระยะเวลาไม่นาน

เขาประสบความสำเร็จในวงการบันเทิง ถึงขั้นคว้ารางวัล “ตุ๊กตาทอง” จากภาพยนตร์เรื่อง “ขยี้” ร่วมกับ ลิขิต เอกมงคล ในปี 2534 ซึ่งเป็นครั้งแรกของไทยจวบจนถึงปัจจุบันนี้ ที่มีนักแสดงนำชาย ที่ได้รับรางวัลนี้พร้อมกันถึง 2 คน

จนในปี 2558 สามารถมีภาพยนตร์สารคดีชีวประวัติของตัวเองในชื่อ “มาดพยัคฆ์” ซึ่งสามารถ ทำหน้าที่เล่าเรื่องด้วยตัวเอง ก่อนจะมีการนำตัดตัดเป็นตอน ๆ ออกอากาศอีกครั้งในปี 2559

ปัจจุบันอดีตยอดมวยกำลังคบหากับภรรยาสาวต่างวัย ทั้งสองกำลังช่วยดูแลค่ายสอนมวยที่ชื่อ “สามารถ พยัคฆ์อรุณ ยิม” แถว ๆ สายไหม

อยากดูว่า “พี่มาด” เล่นดีขนาดไหน ติดตามผลงานได้ ในภาพยนตร์เรื่อง “มนต์รักนักพากย์” ทาง Netflix เท่านั้น.

ภาพจาก : ig@samartpayakaroon, ig@mosthidara, FB Samart Payakaroon