ขณะนี้ ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยน่าเป็นห่วง ยอดติดเชื้อหลักห้าพันขึ้นติดๆ กันหลายวัน แถมมันก็มีความกลัวเกิดขึ้นจากกรณีข่าวเกี่ยวกับการที่โรงพยาบาลไม่มีเตียงเคสหนัก ข่าวการตายคาบ้าน ยิ่งสร้างความหวาดผวาให้ประชาชนมากขึ้นจนอยากให้รัฐบาลต้องทำอะไรที่ “เชิงรุก”กว่านี้

“เชิงรุก”ที่ว่าคืออะไร ที่ชัดเจนมันมีสองอย่าง คือ มาตรการในการปิดหรือป้องกันจุดเสี่ยงการระบาด เช่นใน กทม. หากมีการระบาดในชุมชนแออัด คนในชุมชนก็ต้องออกมาทำงานข้างนอกมีโอกาสเป็นพาหะได้  การตรวจคัดกรองเชิงรุกในพื้นที่แออัดและมีปัญหาเรื่องสุขอนามัยจึงเป็นเรื่องจำเป็นมาก

มาตรการที่สองคือมาตรการด้านวัคซีน ที่แพทย์ บุคลากรด่านหน้าทางสาธารณสุข ประชาชน ให้ความมั่นใจกับวัคซีน mRNA หรือวัคซีนตัดต่อพันธุกรรมอย่างไฟเซอร์ โมเดอน่า มากกว่าวัคซีนเชื้อตายที่รัฐบาลตะบี้ตะบันสั่งไม่หยุดอย่างซิโนแวค ซึ่งรัฐบาลเขาก็บอกว่าเร่งดำเนินการให้อยู่  ได้ในไตรมาสสี่ ซึ่งก็ไม่รู้ต้น ต.ค.หรือปลาย ธ.ค.ลุ้นเอา

แล้วก็เกิดเหตุสะท้านทรวงขึ้นมา เมื่อมีเอกสารหลุด เป็นบันทึกการประชุมคณะกรรมการวิชาการ ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ2558 , คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคและคณะทำงานวิชาการด้านบริหารจัดการและศึกษาการให้บริการวัคซีน ( คกก.สามฝ่าย ) เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. เกี่ยวกับเรื่องการใช้ไฟเซอร์ส่วนที่ได้จากการบริจาค

ไอ้ที่โจษจันกันมากคือ บันทึกผลการประชุมข้อ 10 ที่เขียนว่า “ถ้าเอาไฟเซอร์มาฉีดบุคลากรด่านหน้า ( HCW ก็พวกบุคลากรทางการแพทย์ ) ก็เท่ากับเรายอมรับว่าซิโนแวคไม่มีผลต่อการป้องกัน แล้วจะแก้ตัวยากขึ้น” ประโยคนี้คงเหมือนเอาน้ำมันราดเพลิงอารมณ์ของคนทำงานที่ตอนนี้เหนื่อยจนไม่รู้จะเหนื่อยอย่างไรแล้ว

ในช่วงที่ผ่านมา ได้ฟังเสียงบุคลากรทางการแพทย์หน้างานว่า “เขาต้องการความมั่นใจ” ว่าเขาสามารถทำงานต่อไปได้โดยไม่เสี่ยง เพราะหมอติดคนนึงคนใกล้ชิดอย่างพยาบาล เวรเปล ก็ต้องกักตัวตามไปด้วย  ความมั่นใจจะช่วยเขาได้จากของดี ขนาด นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา จากสภากาชาดไทยเหน็บให้ว่า “ไม่ให้ก็ไปซื้อโมเดอน่าฉีดเองก็ได้”

พล.อ.ต.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา ก็ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กแสดงจุดยืนขอสนับสนุนวัคซีนเข็มสามแก่กลุ่มด่านหน้า เพราะในการออกรบเขาต้องการได้เกราะป้องกันที่ดีที่สุดให้สามารถอยู่รอดได้ บุคลากรก็ไม่พออยู่แล้ว ขณะที่ท่าทีของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข บอกแค่ว่า “ยังเป็นแค่ชั้นความเห็น”

พร้อมย้ำว่า เป็นเรื่องในทางวิชาการ เรายังไม่ควรวิพากษ์วิจารณ์อะไร ตราบใดที่ยังไม่ใช่ขั้นตอนปฏิบัติก็ยังไม่มีผล …แต่เอกสารออกมาเช่นนี้มันก็ชวนให้คิดว่า “เกิดอะไรขึ้นในกระทรวงสาธารณสุข” เพราะคณะกรรมการก็น่าจะหมอทั้งนั้น แล้วมีความเห็นแบบไม่มีความเห็นอกเห็นใจเพื่อนหมอแบบนี้ เพราะอะไร ?

เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ถูกตั้งข้อสังเกตไปอย่างกว้างขวางหลังเกิดเหตุเอกสารหลุด ซึ่งคาดว่าคนทำหลุดก็คงต้องการ “ฟ้องสังคม”ให้รู้ก่อนเพื่อให้สังคม , บุคลากรทางการแพทย์มีแอคชั่น ขยับตัวส่งเสียงดังๆ ไปยังรัฐบาลว่าเขาจำเป็นต้องได้อะไร ถ้าเอกสารไม่หลุดขึ้นมา แล้วเกิดเหตุที่ส่งผลต่อความปลอดภัยของแพทย์หน้างาน จะเจ๊งกันอีกแค่ไหน ?

ในส่วนของนายอนุทินเอง เป็นผู้กำหนดนโยบาย ก็ย่อมต้องถูกคาดหวังว่า เป็นผู้ตัดสินใจที่ฉลาดและรอบคอบที่สุด เข้าใจว่าระดับรัฐมนตรีคงจะได้รับรายงานเรื่องเสียงหมอเกี่ยวกับเรื่องวัคซีนมาจำนวนมาก แล้วสุดท้าย ก็น่าจับตาว่า รมว.สาธารณสุขจะตัดสินใจอย่างไร ? หวังว่าไม่ใช่พูดง่ายแค่โยนให้ ศบค.เคาะเอาเองแล้วกัน

นาทีนี้ ต้องแสดงภาวะผู้นำ ตัดสินใจเร็วฟังเสียงคนหน้างาน อย่าให้ถึงขั้นหมอทนไม่ไหวหยุดงานมาไล่.