แต่วิกฤติระดับโลกนี้ จะสามารถแก้ไขได้ ด้วยความร่วมมือจากทุกคนและทุกภาคส่วน ซึ่งบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด หนึ่งในผู้พัฒนาและจัดหาพลังงานให้กับประเทศไทยมากว่า 60 ปี ได้เห็นถึงความสำคัญการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านพลังงานของไทยไปสู่ยุคพลังงานสะอาดอย่างมั่นคงเช่นกัน

“ชาทิตย์ ห้วยหงษ์ทอง” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต เล่าถึงเป้าหมายของเชฟรอนว่า “ผมเชื่อว่า ทิศทางโลกต่อจากนี้ จะมุ่งสู่การมองหาพลังงานที่สะอาดขึ้น พร้อมเดินหน้าเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการผลิตพลังงานคาร์บอนตํ่า ทั้งในวันนี้ และในอนาคต โดยเชฟรอนทั่วโลก และในไทยตั้งเป้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2593 ถือเป็นเป้าหมายที่ท้าทาย และเร็วกว่าเป้าที่ประเทศไทยตั้งไว้ แต่มั่นใจว่า ด้วยการลงมือทำ จะสามารถประสบความสำเร็จ

ลุยโรดแมป 3 ด้านสู่เป้าหมาย

สำหรับกลยุทธ์ในการไปสู่เป้าหมาย ได้ต้องสร้างโรดแมปที่ชัดเจน เน้น 3 ด้านหลัก ได้แก่ Clean Operations Strategy มุ่งลดการใช้พลังงานและเชื้อเพลิงในขั้นการผลิตปิโตรเลียมและการดำเนินงานต่าง ๆ ผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพอุปกรณ์เครื่องจักร นำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้เช่น ตั้งศูนย์ควบคุมปฏิบัติงานของแท่นผลิตที่กรุงเทพฯ ที่เรียกว่า ไอโอซี เป็นศูนย์บัญชาการแบบรีโมทแห่งแรกในไทย เน้นลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตรงจากกระบวนการผลิต ศึกษาการนำเทคโนโลยีมาจัดหาพลังงานที่สะอาดขึ้นวางแผนใช้พลังงานแสงอาทิตย์จากการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ควบคู่ไปกับการใช้พลังงานลมสลับกันในระหว่างวันสำหรับผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ดำเนินงานที่แท่นหลุมผลิต

กลยุทธ์ที่ 2 คือ Grow Sustainable Long-term Opportunities สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนผลักดันด้านนโยบายสนับสนุนเพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน เป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญที่ช่วยเร่งกระบวนการต่าง ๆ ให้บรรลุเป้าหมายได้ พร้อมร่วมมือกับบริษัทผู้ร่วมทุนในการศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีเทคโนโลยีการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CCUS มาใช้ในอ่าวไทยด้วย

ชี้พลังคนหัวใจสำคัญ

“ผมคิดว่าทุกคนมีหน้าที่ที่จะต้องร่วมมือกัน ในการที่จะลดผลกระทบกับชั้นบรรยากาศ ไม่เพียงในระดับองค์กรแต่ในระดับบุคคลด้วย ดังนั้นกลยุทธ์ด้านสุดท้าย ที่เป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินงานของเรา คือ การสร้าง “พลังคน”เราเน้นการสร้างความเข้าใจด้านการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานและสร้างการรู้ถึงกลยุทธ์ขององค์การที่มุ่งสู่พลังงานคาร์บอนตํ่าให้กับพนักงาน เพื่อร่วมกันแก้โจทย์ความท้าทายนี้ ผ่านการจัดกิจกรรมหลากหลาย ทั้งการเชิญผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้จัดประกวดไอเดียลดการปล่อยคาร์บอน

ฟอสซิลยังไม่ทิ้งทำสะอาดขึ้น

ยุค การเปลี่ยนผ่านพลังงาน เป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงอย่างมากมายในปัจจุบัน ประชาชนส่วนมากเห็นด้วยกับการใช้พลังงานสะอาด ขณะเดียวกันความต้องการใช้พลังงานยังคงสูงขึ้นต่อเนื่อง ราคาและความพร้อมของพลังงานทางเลือกยังเป็นปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง ผมมองว่า ในปัจจุบันพลังงานหลักของโลกยังมาจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นสัดส่วนสูงถึง 80% และในอนาคตความต้องการใช้พลังงานมีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากการเพิ่มขึ้นของประชากรและการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะบริษัทพลังงานที่อยู่คู่สังคมไทยมากว่า 60 ปี เราเองมีบทบาทอย่างมากในการสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนทางพลังงานให้กับประเทศ เรามองว่า ความต้องการพลังงานฟอสซิลจะยังมีอยู่ต่อไปในอีกหลายทศวรรษข้างหน้า ระหว่างที่พัฒนาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

การจัดหาพลังงานในประเทศยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ เชฟรอนเองก็ไม่หยุดพัฒนาการผลิตพลังงานฟอสซิล อย่างก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นพลังงานฟอสซิลที่สะอาดกว่า ด้วยกรรมวิธีที่ปล่อยคาร์บอนน้อยลงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมทั้งการผลิตพลังงานเองในประเทศ ยังมีต้นทุนที่ตํ่ากว่า และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ และยังไม่หยุดยั้งในการมองหาโอกาสที่จะศึกษาและพัฒนาพลังงานทางเลือกที่น่าสนใจ อย่างไฮโดรเจน เพื่อความยั่งยืนของการจัดหาพลังงานให้กับประเทศต่อไป

พร้อมลุยพื้นที่ทับซื้อไทย-กัมพูชา

เมื่อพูดถึงความมั่นคงทางพลังงาน “ชาทิตย์” ฉายภาพให้เห็นถึงแผนธุรกิจระยะยาวของเชฟรอนในประเทศไทยว่า “เรายังลงทุนอย่างต่อเนื่องในด้านการสำรวจและพัฒนาปิโตรเลียมภายในประเทศ ทั้งการพัฒนาแหล่งผลิตปิโตรเลียมที่มีอยู่ ทั้งไพลินและเบญจมาศ รวมถึงแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข จี2/65 ที่เชฟรอนได้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ในการประมูลสิทธิปิโตรเลียมครั้งที่ 24 ที่ผ่านมา และหาโอกาสใหม่ ๆ ในการสนับสนุนความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ เช่น การต่อระยะเวลาการผลิตก๊าซธรรมชาติของแหล่งไพลิน การพัฒนาปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา และเดินหน้าพัฒนาโครงการผลิตปิโตรเลียมแหล่งอุบลรวมถึงการนำเทคโนโลยีและกระบวนการใหม่ ๆ มาใช้ในกระบวนการผลิตปิโตรเลียม

“เรื่อง พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชา นั้น มีความคืบหน้าหลายด้านในรัฐบาลชุดนี้ หากตกลงกันได้ทั้งสองประเทศจะเป็นประโยชน์ต่อความมั่นคงทางพลังงานของทั้งไทยและกัมพูชา ทั้งการลดการนำเข้าพลังงาน ด้านการลงทุน การจ้างงาน รายได้ของภาครัฐ หลังจากที่ผ่านมาทั้งสองประเทศต่างได้รับผลกระทบจากความผันผวนของราคาพลังงานในระดับสูง และต้องคำนึงถึงกรอบเวลา เพราะกระบวนการและระยะเวลาการเข้าไปสำรวจและผลิตปิโตรเลียม หลังจากเจรจาเสร็จสิ้น จะใช้เวลาอย่างน้อยเป็น 10 ปี จึงจะสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติจากพื้นที่ดังกล่าวขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ เชฟรอนเองมีความพร้อม และความมั่นใจในการดำเนินงานจะมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว เชื่อถือได้และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น”.