เมื่อวันที่ 9 ต.ค. เวลา 11.00 น. ที่กระทรวงการต่างประเทศ นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงถึงความคืบหน้าเหตุการณ์ยิงจรวดโจมตีระหว่างประเทศอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ว่า สถานการณ์ในอิสราเอลยังมีความรุนแรง และมีการโจมตีด้วยจรวดจากฉนวนกาซาเข้ามาในพื้นที่อิสราเอล ขณะเดียวกัน รัฐบาลอิสราเอลยังพยายามกระชับและยึดพื้นที่คืน พร้อมกับช่วยเหลือผู้ที่ถูกจับเป็นตัวประกัน โดยในขณะนี้มีพลเรือนในอิสราเอลและปาเลสไตน์ได้รับผลกระทบ ทั้งบาดเจ็บและเสียชีวิต ตลอดจนมีพลเรือนถูกจับตัวไปอย่างน้อย 100 คน ขณะที่ รมว.กลาโหมอิสราเอล ประกาศให้อิสราเอลอยู่ในภาวะสงครามและสถานการณ์พิเศษ ทำให้กองทัพอิสราเอลมีอำนาจสั่งการด้านความปลอดภัย ขณะที่กองทัพอิสราเอล ประกาศเมื่อวันที่ 8 ต.ค. ที่ผ่านมาว่า อพยพประชาชนทุกคนทั้งชาวอิสราเอลและชาวต่างชาติออกจากเมืองที่อยู่ใกล้พรมแดนฉนวนกาซาให้ได้ภายใน 24 ชั่วโมง โดยต้องมั่นใจว่าไม่มีผู้ก่อการร้ายในพื้นที่ในช่วงเวลานั้นๆ เพื่อความปลอดภัยของประชาชน อีกทั้งกระทรวงการต่างประเทศอิสราเอลบรรยายสรุปสถานการณ์ในอิสราเอลให้คณะทูตของประเทศต่างๆ ได้รับทราบผ่านทางระบบออนไลน์ พร้อมกับขอให้ลดความกังวลของคณะทูตต่างประเทศด้วย

นางกาญจนา กล่าวอีกว่า สำหรับท่าอากาศยานอิสราเอลยังเปิดทำการตามปกติ โดยขณะนี้มีจำนวนเที่ยวบินที่เดินทางเข้า-ออกท่าอากาศยานแห่งนี้ คิดเป็น 50 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนเที่ยวบินทั้งหมดที่เข้า-ออกในช่วงก่อนเกิดเหตุ และรัฐบาลอิสราเอลยืนยันว่าอิสราเอลยังมีความปลอดภัย ไม่แนะนำให้มีการอพยพ แต่ถ้าประเทศใดต้องการจะอพยพพลเมืองของตัวเอง ก็สามารถทำได้ และสามารถใช้เครื่องบินพาณิชย์ในการอพยพประชาชนได้ แต่ถ้าจะใช้เครื่องบินประเภทอื่น สามารถติดต่อประสานงานกับกระทรวงการต่างประเทศอิสราเอลได้ นอกจากนี้ ฝ่ายอิสราเอลแจ้งว่าขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนเรื่องจำนวนของชาวอิสราเอลและชาวต่างชาติที่เสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บ และถูกจับเป็นตัวประกัน

นางกาญจนา ยังกล่าวถึงการช่วยเหลือคนไทยในอิสราเอลด้วย ว่า สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล ได้รับแจ้งข้อมูลเพิ่มเติมจากแรงงานไทยและนายจ้างในพื้นที่ โดยขณะนี้จำนวนคนไทยที่ได้รับบาดเจ็บมี 8 ราย ถูกจับเป็นตัวประกัน 11 คน และผู้เสียชีวิตตอนนี้มีจำนวน 12 ราย ซึ่งเป็นข้อมูลที่สถานเอกอัครราชทูตไทยฯ ได้รับจากนายจ้าง เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 8 ต.ค. ที่ผ่านมา แต่ทางการอิสราเอลยังไม่ยืนยันตัวเลขดังกล่าว และตัวเลขยังไม่นิ่ง เพราะอยู่ในภาวะสงครามที่ยังมีการสู้รบกัน ทั้งนี้ กรณีของผู้เสียชีวิตชาวไทย 12 คน เราไม่ขอเผยแพร่ชื่อ เพราะถือเป็นมารยาทและเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ทั้งนี้ กรมการกงสุลจะดำเนินการติดต่อโดยตรงกับครอบครัวหรือญาติของผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ หรือผู้ถูกจับตัว

นางกาญจนา กล่าวอีกว่า ส่วนการอพยพคนไทยนั้น กองทัพอิสราเอลได้เริ่มอพยพคนไทยออกจากพื้นที่เสี่ยงไปยังที่ปลอดภัยแล้ว ขณะเดียวกัน กองทัพอากาศของไทยเตรียมความพร้อมเรื่องของเครื่องบินแล้ว ขณะที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ได้เปิดให้คนไทยในอิสราเอลกรอกแบบฟอร์มแสดงความประสงค์ขอกลับประเทศ ซึ่งข้อมูล ณ วันที่ 8 ต.ค. ที่ผ่านมา เวลา 21.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น พบว่ามีคนไทยที่ประสงค์กลับไทย จำนวน 1,099 คน และผู้ที่ยังไม่กลับไทย 22 คน ทั้งนี้ ยังเปิดให้คนไทยในอิสราเอลทยอยกรอกแบบสอบถามนี้อยู่ สำหรับยอดรวมคนไทยในอิสราเอลมีทั้งหมดประมาณ 30,000 คน ซึ่งมีผู้ที่อยู่บริเวณฉนวนกาซา 5,000 คน ส่วนจะไปรับคนไทยกลับประเทศได้เมื่อใดนั้น เราต้องประเมินสถานการณ์และขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย อาทิ จำนวนผู้ที่ประสงค์เดินทางกลับ การลำเลียงผู้คนไปยังพื้นที่ปลอดภัยและจุดรวมพลจะทำได้เมื่อใด ซึ่งต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญ

นางกาญจนา กล่าวว่า ในวันนี้ (9 ก.ค.) เวลา 13.00 น. คณะทำงานศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉินจะมีการประชุมเพื่อติดตามสถานการณ์ในอิสราเอลต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ขอย้ำรัฐบาลและกระทรวงการต่างประเทศเข้าใจถึงความกังวลของประชาชน ขณะเดียวกันจำเป็นต้องคำนึงถึงความละเอียดอ่อนของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นกัน ทำให้การกำหนดท่าทีต่างๆ จะต้องดำเนินการอย่างระมัดระวังและรอบคอบ แต่ขอให้ทุกคนวางใจ รัฐบาลให้ความสำคัญสูงสุดกับความปลอดภัยและสวัสดิภาพของประชาชน  

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ทางกระทรวงฯ มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ประสานงานพูดคุยกับสำนักงานปาเลสไตน์ในมาเลเซียด้วย นางกาญจนา กล่าวว่า สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ คงจะได้พบกับฝ่ายปาเลสไตน์ในวันนี้ (9 ต.ค.) ซึ่งเรากำลังรอการรายงานผลหารือจากสถานเอกอัครราชทูตไทยอยู่ ขณะเดียวกัน เราได้ประสานกับประเทศอื่นๆ อยู่ที่ใกล้เคียงอิสราเอลด้วย อาทิ จอร์แดน ซึ่งทราบว่ากองทัพอากาศสามารถบินตรงได้