เมื่อวันที่ 7 ต.ค. นายชัยยา ห้วยหงษ์ทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ กล่าวว่า ในช่วงนี้ถือว่าเป็นช่วงช้างป่าตกมันและช่วงผสมพันธุ์ ช้างหนุ่มที่ออกมาอยู่โดยลำพังตัวเดียว หรือเรียกว่า ช้างโทน ต่างเดินหาช้างเพศเมียในหลายพื้นที่ โดยจะพบช้างป่าพลายงาทอง อายุประมาณ 25-30 ปี ถือว่าเป็นช้างป่าที่มีงายาว สีทอง เดินออกมากินอาหารตามถนนและทุ่งหญ้าให้นักท่องเที่ยวได้ยลโฉม ความเป็นธรรมชาติบนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

โดยได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ พบช้างป่าพลายงาทอง ออกจากป่ามาอยู่บริเวณทุ่งหญ้า ทางขึ้นเขาเขียว หรือทางขึ้นไปผาเดียวดาย ผาตรอมใจ แหล่งท่องเที่ยว และมีนักท่องเที่ยวใช้รถตามถนนเกรงจะไม่ได้รับความสะดวก จึงได้เดินทางไปตรวจสอบพร้อมด้วย นายสัตวแพทย์ ภัทรพล มณีอ่อน หรือ หมอล็อต หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ออกตรวจสอบ พบช้างป่าพลายงาทองเดินเข้ามาหาและข้ามถนนไปอีกด้าน ดูมีสง่า งาสวยงาม

หมอล็อต กล่าวว่า พลายงาทอง มีงาโผล่ออกมายาวกว่าข้างละ 2 ฟุต งามีสีทองโดยกำเนิด ถือว่ามีตัวเดียวในเขาใหญ่ที่มีงาเป็นสีทอง แต่ก็พบช้างป่าอีกหลายตัวที่พบว่า งา หรือ ฟัน มีปัญหาแตก หัก เมื่อชนกับต้นไม้และดิน สาเหตุจากขาดแคลเซียม เนื่องจากโป่งดินที่มีแร่ธาตุตามธรรมชาติในป่าเหลือน้อย เพราะสัตว์ป่า เช่น เก้ง กวาง ช้างป่า กระทิง โดยเฉพาะสัตว์ป่าที่กำลังตั้งท้อง ต้องการแคลเซียม แร่ธาตุ เข้าไปเสริมสร้างกระดูก จึงให้หน่วยงาน องค์กรต่างๆ ทำโป่งเทียมตามทุ่งหญ้าเพื่อให้สัตว์ป่าได้กิน ถึงจะไม่ใช่แร่ธาตุที่เกิดจากธรรมชาติ แต่แร่ธาตุที่ได้จากโป่งเทียม ก็มีคุณค่าทางอาหารให้กับสัตว์ป่า เพราะตามฟาร์มเลี้ยงสัตว์ก็ต้องใช้แร่ธาตุจำพวกนี้อยู่แล้ว