จากเหตุการณ์สะเทือนขวัญ ภายหลังคนร้ายกราดยิงกลางห้างสยามพารากอน มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตหลายราย ขณะที่ตำรวจเร่งเข้าคุมพื้นที่ ก่อนจับคนร้ายได้ ซึ่งมือปืนเป็นเพียงเยาวชนชายอายุเพียง 14 ปี ตามที่ได้เสนอข่าวมาอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 ต.ค. พลตำรวจโท อำนวย นิ่มมะโน อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ได้ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า “สภาวะจิต…..กับความรับผิดในทางอาญา” ความรับผิดในทางอาญาต้องมี “เจตนา” เป็นหลัก ซึ่งก็คือการกระทำโดยผู้กระทำรู้สำนึกในขณะกระทำ โดยประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น….. แล้วถ้าหากผู้กระทำมีสภาวะจิต เป็นโรค มีความผิดปกติในการควบคุมการสั่งการของสมองที่จะบังคับร่างกายและจิตใจ จนทำให้เกิดการกระทำความผิดขึ้น ผู้กระทำจะต้องมีความรับผิดในทางอาญาแค่ไหน เพียงใด?

กระผมขออนุญาตแชร์ประสบการณ์ตรงในการทำคดีสำคัญเรื่องหนึ่ง เมื่อประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา ได้เกิดคดีที่ประชาชนให้ความสนใจเพราะเข้าใจว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับการเมือง กล่าวคือ ในช่วงที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจในประเด็นการทุจริต ในการแจกโฉนดที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลในขณะนั้น ได้เกิดเหตุมีคนร้ายเข้าไปลอบวางเพลิงเผาห้องผู้นำฝ่ายค้าน ซึ่งตั้งอยู่ที่ชั้น 2 ของอาคารรัฐสภา ประเด็นที่สังคมให้ความสนใจก็คือเป็นการเผาเพื่อทำลายหลักฐานที่จะใช้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในประเด็นดังกล่าวใช่หรือไม่???

เหตุครั้งนี้เจ้าหน้าที่รัฐสภาและเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมตัวผู้ก่อเหตุได้โดยทันที ปรากฏว่าผู้ก่อเหตุเป็นชายอายุประมาณ 30 ปีเศษ จบปริญญาโทด้านวิศวกรรมศาสตร์ ประกอบอาชีพด้านวิศวกรรมออกแบบอาคารสูง (คอนโดมิเนียม) สอบสวนได้ความว่า “ขับรถออกจากบ้านพักย่านฝั่งธน เลือกใช้รถยนต์คันที่มีป้ายอนุญาตให้เข้าไปจอดในรัฐสภาได้ ขณะที่จะเข้าไปในตัวอาคารเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้ไปแลกบัตรก่อน แต่เจ้าตัวเกรงว่าจะมีหลักฐานปรากฏจึงไม่ยอมแลกบัตร แต่ได้ออกอุบายหลอกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยว่าขับรถมาไกลขอเข้าห้องน้ำไปทำธุระแป๊บเดียวจะออกมา เจ้าหน้าที่จึงยอม

หลังจากนั้นผู้ก่อเหตุได้ขึ้นไปยังห้องผู้นำฝ่ายค้าน แล้วลงมือวางเพลิงด้วยการใช้น้ำมันรอนสันซึ่งเตรียมมาเทราดบนพื้นพรม พร้อมกับใช้กระดาษเป็นเชื้อเพลิง และใช้ไฟแช็กแก๊สพลาสติกที่พกพาสำหรับสูบบุหรี่วางเป็นจุดๆ แล้วทำการจุดไฟให้เพลิงไหม้ไปตามแนวน้ำมันไหม้กระดาษ เมื่อถึงจุดที่ไฟแช็ควางอยู่ก็จะเกิดระเบิดเป็นเพลิงขนาดใหญ่ขึ้น เป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ห้องผู้นำฝ่ายค้าน แต่เนื่องจากเหตุเกิดเวลากลางวัน เจ้าหน้าที่ได้รีบเข้าทำการระงับเหตุ และสามารถดับเพลิงได้โดยเร็ว เพลิงจึงไหม้เพียงพื้นห้อง ผนังห้อง และเอกสารไปบางส่วนเท่านั้น” ญาติผู้ก่อเหตุอ้างว่าผู้ก่อเหตุมีอาการป่วยเป็นโรคจิต และอยู่ระหว่างการรักษาตัว…..

วุฒิการศึกษาปริญญาโทด้านวิศวกรรมศาสตร์ เป็นวิศวกรออกแบบอาคารสูง ขับรถมาจากบ้านย่านฝั่งธน ใช้กลอุบายหลอกล่อเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของรัฐสภาเพื่อเข้าไปในตัวอาคาร แล้วเข้าไปก่อเหตุอย่างเป็นระบบ ดูไปๆ จะเป็นคนป่วยด้านจิตเวชได้อย่างไร? กระผมได้ไปทำการสอบปากคำแพทย์เจ้าของไข้ที่สถาบันนิติจิตเวชแห่งหนึ่ง นัดสอบปากคำกันเวลา 09.00 น. แพทย์ผู้ให้ปากคำจัดสถานที่สอบกันที่กลางสนามหญ้าหน้าอาคาร สอบกันนานราว 3 ชั่วโมง จนแดดออกเปรี้ยง แต่แพทย์ไม่เห็นคิดที่จะให้ย้ายสถานที่สอบปากคำ (หลบแดด) คงนั่งตากแดดกันจนกระทั่งใกล้เที่ยง ตกลงไม่รู้ว่าใครเป็นคนป่วยกันแน่!!!

จากการสอบปากคำแพทย์ คำตอบที่ได้ “ผู้ป่วยรายนี้ให้ความสนใจเรื่องการเมืองสูง.. แต่จะมีความคิดค่อนข้างสับสนในเรื่องการเมือง… ต้องรักษาตัวอย่างต่อเนื่อง ถ้าขาดการรักษา ขาดยา จะทำให้อาการกำเริบ ถึงขนาดไม่สามารถรู้สึกสำนึกในการกระทำของตนเองได้ ช่วงก่อนเกิดเหตุผู้ป่วยรายนี้ไม่มารับยาตามกำหนด 2 นัด ซึ่งถือว่าขาดการรักษา ขาดยา ตกอยู่ในสภาวะที่จะทำให้กระทำการใดลงไปโดยไม่รู้สึกสำนึกในการกระทำของตนเองได้…….

ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 65 ผู้ใดกระทำผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่ถ้าผู้กระทำผิดยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ผู้นั้น ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้

คดีนี้ถึงที่สุด พนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องผู้ต้องหา ซึ่งก็เป็นไปตาม ข้อเท็จจริง พยานหลักฐาน และข้อกฎหมายอย่างถูกต้องครบถ้วน ที่กระผมเขียนเรื่องนี้มาให้อ่านกัน ก็เพราะเพื่อที่จะสะท้อนให้เห็นว่า เราๆ ท่านๆ ที่เดินกันไปเดินกันมาอยู่ร่วมกันในสังคม อาจจะมีคนที่มีปัญหาด้านสภาวะจิต อยู่ใกล้ๆ ตัวเราด้วย และอาจจะก่อเหตุที่ไม่คาดคิดขึ้นมาเมื่อใดก็ได้

ดังเช่นเหตุการณ์ที่ห้างสยามพารากอนเมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา และถ้าจะบอกว่าเป็นเหตุการณ์ที่นอกเหนือการควบคุม ไม่มีใครรู้ ควบคุมไม่ได้ ต้องปล่อยไปตามธรรมชาติก็คงจะไม่ถูกนัก….เพราะมีคนที่ต้องรู้ และมีหน้าที่ควบคุมดูแล….บิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ซึ่งเด็กนั้นอาศัยอยู่ด้วย (ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ) หรือเป็นหน้าที่ของผู้ปกครอง หรือผู้มีอำนาจปกครองกรณีที่เกินเกณฑ์การเป็นเด็กหรือเยาวชน ที่จะต้องคอยควบคุมกำกับดูแล ผู้ป่วยโรคจิตที่อยู่ในปกครองของตนอย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้ไปก่อเหตุสร้างความเดือดร้อนให้กับสังคมขึ้นได้ จะได้ไม่ต้องมานั่งเสียใจกล่าวคำขอโทษหลังจากก่อเหตุขึ้นแล้ว

คดีตัวอย่างจากประสบการณ์ตรงที่กระผมนำมาเขียนให้ได้อ่านกัน จะเห็นได้ว่าผู้ก่อเหตุไม่มีใครคนใดที่จะทราบได้ว่าเขาเป็นผู้ป่วยโรคจิต เพราะหน้าตาดี ความรู้ดี หน้าที่การงานดี ฐานะดี (แต่มีสภาวะจิตแฝงอยู่) นอกเสียจากคนในครอบครัว จึงเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบที่คนในครอบครัวจะต้องร่วมรับผิดชอบ เพื่อไม่ให้คนในปกครองมาสร้างความเดือดร้อนเสียหายขึ้นกับสังคมส่วนรวม แต่ขาเมา จะอ้างความมึนเมาว่าทำไปโดยไม่รู้สำนึกในการกระทำหาได้ไม่ อันนี้มีกฎหมายบัญญัติไว้นะครับ.. ห้ามมั่วววว!!!!..