เมื่อวันที่ 27 ก.ย. ที่อาคารมติชน มีการจัดเสวนา การทำโพลเดลินิวส์ X มติชน : รัฐบาลเศรษฐาควรแก้ปัญหาอะไร? โดยมี นายปารเมศ เหตระกูล กรรมการบริหารหนังสือพิมพ์เดลินิวส์และเดลินิวส์ออนไลน์, นายปราปต์ บุนปาน รองกรรมการผู้จัดการสายเทคโนโลยีและดิจิทัลมีเดีย บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน), ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ อดีตคณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์, ดร.ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์ และ ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ ม.เชียงใหม่

สำหรับโพลเดลินิวส์ X มติชน ก่อนหน้านี้ได้ร่วมมือจัดทำโพลวิเคราะห์ผลการเลือกตั้ง 66 ซึ่งมีประชาชนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก โดยครั้งนี้ถือเป็นการทำโพลครั้งประวัติศาสตร์อีกครั้ง ซึ่งหลังมีการจัดตั้งรัฐบาลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงมีคำถามสะท้อนจากสังคมว่า รัฐบาลเศรษฐาควรแก้ปัญหาอะไร

ด้านนายศิโรตม์ นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์ ได้กล่าวในประเด็นปัญหาการเมืองและการปฏิรูปโครงสร้างการเมือง ว่าชุดปัญหาที่โพลได้จัดทำไว้มีความครอบคลุมเพียงพอหรือไม่ และจะสามารถสะท้อนปัญหาถึงรัฐบาลได้หรือไม่ ว่า ตนคิดว่าเพียงพอ ปัญหาที่จะพูดจริง ๆ มีลักษณะสำคัญอยู่ 2 ประการ คือ 1. เรื่องที่คนในสังคมกังวล เป็นเรื่องที่คนในสังคมสนใจ และรู้สึกว่ามันจะได้รับการแก้ไขหรือไม่ 2. เรื่องที่รัฐบาลซึ่ง ณ วันนี้เป็นแกนนำจากพรรคเพื่อไทย (พท.) ได้พูดไว้เยอะในการหาเสียง ฉะนั้นหากถามตนว่าคำถามครอบคลุมหรือไม่ ตนคิดว่าครอบคลุมแล้ว และการครอบคลุมมีนัยยะด้วย เพราะครอบคลุมในเรื่องที่สังคมคาดหวัง และเรื่องซึ่งพรรคการเมืองซึ่งยังไม่ได้เป็นรัฐบาล เคยหาเสียงก่อนเป็นรัฐบาลว่าเขาจะทำเรื่องนั้นเรื่องนี้ด้วย ซึ่งผลโพลมันจะตอบเราได้อย่างหนึ่ง คือ รัฐบาลได้ทำสิ่งที่ตัวเองได้หาเสียงเอาไว้หรือเปล่า แล้วเป็นเรื่องซึ่งคนคาดหวังด้วยหรือเปล่า

“ตอนนี้สิ่งที่เป็นประเด็นมาก ณ เวลานี้ คือ รัฐบาลเพิ่งเข้ามาทำงาน แต่ว่าในการเพิ่งเข้ามาทำงาน ผมว่าคนเริ่มรู้สึกว่ารัฐบาลเหมือนกับอยู่มานานแล้ว รัฐบาลก็ชอบบ่นว่าเพิ่งเข้ามาไม่กี่วันทำไมคนชอบว่านู่นว่านี่จัง ผมคิดว่าเป็นเพราะกระบวนการที่ก่อนที่รัฐบาลจะตั้งขึ้นมามันหลังเลือกตั้งนานมากเรามีการเลือกตั้งเดือนพฤษภาคม กว่าจะมีรัฐบาลก็ผ่านมา 3-4 เดือน” นายศิโรตม์ กล่าว

นายศิโรตม์ กล่าวว่า มันเป็น 3-4 เดือน ที่คนรู้สึกว่ามันมีสุญญากาศ และเป็นสุญญากาศที่คนอยากเห็นการแก้ไขปัญหา ซึ่งพรรคเพื่อไทยขึ้นมาเป็นรัฐบาลในเวลาที่อย่างที่พูด คือ ไม่ใช่พรรคซึ่งชนะอันดับหนึ่ง ฉะนั้นจึงมีความเหนื่อยในการเผชิญปัญหา ซึ่งเรียกว่าปัญหาเรื่องของการปิดกั้นความชอบธรรมบกพร่อง คือ ความชอบธรรมทางการเมืองมีหลายแบบ มีผู้นำที่เก่งก็เป็นความชอบธรรมได้ ผลงานดีก็มีความชอบธรรมได้ แต่สารตั้งต้นที่สำคัญคือที่มา ถ้าคุณชนะอันดับหนึ่งแล้วคุณเป็นรัฐบาล แล้วคุณทำผลงานดี ไม่มีปัญหาเรื่องความชอบธรรมบกพร่องเลย ดรีมทีมเลย แต่ถ้าคุณเข้ามาแล้วไม่ได้เป็นอันดับหนึ่ง คุณก็จะมีปัญหาเรื่องความชอบธรรรมบกพร่องเรื่องที่หนึ่งไป คุณก็ต้องไปเหนื่อยในการสร้างความชอบธรรมทดแทนมาชดเชยความบกพร่อง เช่น 1.อาจจะต้องมีนายกที่เก่ง 2. รัฐบาลต้องทำตามที่หาเสียงไว้ได้ครบ 3. ในการทำตามที่หาเสียงไว้ได้ครบ ผลงานต้องออกมาดี 3 เรื่องนี้ก็จะเป็นจุดสำคัญสำหรับคนเป็นรัฐบาลที่ถ้ามีปัญหาเรื่องความชอบธรรมบกพร่อง ฉะนั้นตนคิดว่าสำหรับตอนนี้ สิ่งที่มันเป็นประเด็นสำหรับรัฐบาลแล้วก็คนไทยสนใจ คือ รัฐบาลปัจจุบันเขาจะฝ่าประเด็นพวกนี้ไปได้อย่างไร สิ่งนี้คือสิ่งที่มีความสำคัญ และมันไม่ใช่สำคัญเพราะว่าแค่เราสนใจเรื่องการเมือง

“ผมคิดว่าประเด็นที่น่าสนใจคือช่วงนี้ช่วงใกล้ปลายปีแล้ว เป็นไตรมาส 4 แล้วซึ่งเป็นไตรมาสที่คนจำนวนมากต้องเริ่มวางแผนว่าปีหน้าจะเอาอย่างไร ถ้าเป็นนักธุรกิจก็ต้องเริ่มวางแผน ถ้าเป็นประชาชนก็ต้องคิดว่าปีหน้าจะทำมาหากินอย่างไร หรือว่าถ้าเป็นมนุษย์เงินเดือน ลุ้นว่า 1. จะได้โบนัสไหม 2. ปีหน้าจะมีงานทำไหม ประเด็น คือ อนาคตของรัฐบาล หรือความสำเร็จของรัฐบาลในการบริหารนโยบายต่าง ๆ มันพัวพันกับชีวิตคนในประเทศเช่น ถ้ารัฐบาลซึ่งมีปัญหาเรื่องความชอบธรรมบกพร่อง ไม่สามารถบริหารนโยบายที่หาเสียงไว้ได้ หรือบริหารได้แต่ออกมาไม่ดี ความผันผวนทางการเมืองหรือเสถียรภาพทางการเมืองก็จะเกิด แล้วเมื่อมีความผันผวนหรือปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองที่เกิดขึ้น ปัญหาเรื่องการทำมาหากินก็จะตามมา เพราะอย่าลืมว่าบรรยากาศเรื่องการทำมาหากินเชื่อมโยงกับความเชื่อมั่นในรัฐบาล แล้วความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลเชื่อมโยงกับความสามารถของรัฐบาลที่มีผู้นำที่เก่งและการบริหารนโยบายที่ประสบความสำเร็จ”

ดังนั้น ตนคิดว่าการจัดทำโพลในครั้งนี้มันไม่ใช่แค่เรื่องของประชาธิปไตยเพียงอย่างเดียว ซึ่งประชาธิปไตยก็สำคัญ เพราะในแง่หนึ่ง สิ่งที่มติชนกับเดลินิวส์ทำ คือโพลตรวจการบ้านถึงเรื่องที่คุณได้หาเสียงเอาไว้ และเรื่องที่ได้แถลงนโยบายเอาไว้ ปัญหาของรัฐบาลชุดนี้มันมีความประหลาด คือ เรื่องที่หาเสียงกับเรื่องนโยบายเหมือนกัน คนละส่วน แต่โพลนี้จะตรวจการบ้านทั้งสองส่วนคือเรื่องที่คุณหาเสียงไว้เอาอย่างไร แล้วเรื่องนโยบายรัฐบาลเอาอย่างไร ฉะนั้นมันป็นโพลซึ่งในแง่หนึ่งมันคือกลไกของประชาชนในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลอาจจะรู้สึกว่าเร็วเกินไปที่จะตรวจสอบ แต่ผมคิดว่าในแง่ความเป็นประชาชน

“ประชาชนตรวจสอบรัฐบาลได้ตั้งแต่วันแรก เพราะว่ารัฐบาลอยู่ที่ภาษีของประชาชน ดังนั้นผมคิดว่าโพลนี้มันมากกว่าเรื่องการเมือง ในแง่การเมืองมันคือตรวจการบ้านรัฐบาล แต่ในแง่ที่มากกว่าเรื่องการเมือง ผมคิดว่ามันคือการดูอารมณ์ของสังคม เขามองรัฐบาลอย่างไร มุมมองที่ประชาชนมีต่อรัฐบาลส่งผลต่อเสถียรภาพทางการเมือง เสถียรภาพทางการเมืองส่งผลต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจและการลงทุน ซึ่งปัญหาเรื่องความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจและการลงทุนส่งผลโดยตรงต่อปัญหาปากท้องหรือปัญหาชีวิตของประชาชน มันเกี่ยวกันหมด” นายศิโรตม์ กล่าว

สำหรับกิจกรรมการทำ “โพลมติชน X เดลินิวส์ : รัฐบาลเศรษฐาควรแก้ปัญหาอะไร?” ครั้งนี้ เป็นการโหวตผ่านช่องทางออนไลน์ทุกแพลตฟอร์มของสื่อเครือเดลินิวส์ และมติชน โดยจะเริ่มเปิดโหวตตั้งแต่วันที่ 1-31 ต.ค. 66