เมื่อวันที่ 19 ก.ย. เพจเฟซบุ๊ก สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย โพสต์แถลงการณ์สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ระบุ สมาคมทนายความแห่งประเทศไทยเห็นด้วยที่คณะรัฐมนตรีจะหารือแนวทางการทำประชามติ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยไม่แก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ของรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้ถูกออกแบบมาเพื่อการสืบทอดอำนาจของเผด็จการ คสช. บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้สร้างปัญหาจนต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความตลอดมา แต่ภายหลังที่มีการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว กลับสร้างความขัดแย้งให้กับสังคมไทยทุกครั้ง เมื่อกลุ่มบุคคลที่มาจาก คสช. หมดอำนาจลงจึงสมควรที่รัฐบาลจะคืนอำนาจให้ประชาชนเพื่อร่างรัฐธรรมนูญกำหนดกติกาการอยู่ร่วมกันเอง

อย่างไรก็ตามโดยที่หมวด 1 อันเป็นบททั่วไป และหมวด 2 อันเป็นบทว่าด้วยพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นบทบัญญัติ เกี่ยวกับฐานะของพระมหากษัตริย์ การเลือก การแต่งตั้ง และการพ้นตำแหน่งขององคมนตรี การแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และการสืบราชสมบัติ ซึ่งทั้งสองหมวดไม่เคยมีปัญหาโต้เถียงถึงความไม่ชอบหรือไม่เหมาะสม ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์ของความไม่ไว้วางใจอันจะนำมาซึ่งความขัดแย้งทางการเมือง การยกเว้นไม่แก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 จึงเหมาะสมแล้ว

นอกจากการเร่งแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจแล้ว การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองก็ยังต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องเร่งดำเนินการควบคู่กันไปโดยทันที รัฐธรรมนูญบนหลักนิติธรรมที่ประชาชนมีส่วนเป็นผู้ร่างขึ้นจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งดังกล่าว รัฐบาลจึงควรแสดงความจริงใจ พิสูจน์ให้เห็นว่าการจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว เป็นไปเพื่อต้องการแก้ไขปัญหาให้กับประเทศ มิได้เป็นไปเพื่อการแสวงหาอำนาจ ด้วยการเร่งผลักดันเพื่อให้ประชาชนได้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นของประชาชนโดยเร็ว จากนั้นเมื่อกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จและมีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย นายกรัฐมนตรีควรจะต้องยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชนไปเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญใหม่ต่อไป

นรินท์พงศ์ จินาภักดิ์
นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย
19 กันยายน 2566