เมื่อเวลา 11.40 น. วันที่ 14 ก.ย. ที่ อาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ นายสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษา กมธ.กฎหมายฯ สภาผู้แทนราษฎร เดินทางเข้ายื่นถึง พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อขอให้ตรวจสอบควบคู่กับการสอบสวนภาคเอกชน กรณีหน่วยงานของรัฐจัดงบประมาณที่เกินจากความเป็นจริง ทำให้มีการประกวดราคา มีการลดราคากันถึง 50% เช่น ถนนสายสหกรณ์ สมุทรสาคร ราคากลางกรมทางหลวงตั้งไว้ที่ 300 ล้านบาท แต่ผู้ประมูลงาน ประมูลงานได้ในราคา 150 ล้านบาท ลักษณะเช่นนี้หมายความว่าอย่างไร และเป็นที่กังขาของประชาชนที่ได้รับรู้ จึงเรียกร้องให้มีการสอบที่ครบวงจรจากกรณีที่ดีเอสไอสอบกำนันนก เรื่องฮั้วประมูลโครงการในจังหวัดนครปฐม เพื่อความเป็นจริงของทุกฝ่าย โดยมีนายสมเกียรติ เพชรประดับ ผอ.ส่วนพิจารณาสำนวนร้องทุกข์ กองบริหารคดีพิเศษ เป็นตัวแทนรับเรื่อง

นายสนธิญา กล่าวว่า วันนี้ตนมาตั้งขอสังเกตเท่านั้น ไม่ได้มาร้องทุกข์กล่าวโทษ โดยขอให้ดีเอสไอช่วยตรวจสอบการตั้งงบประมาณของส่วนราชการ ซึ่งเป็นโครงการถนนสาย ทางหลวงหมายเลข 3423 ตอนสมุทรสาครโคกขาม (ถนนสายสหกรณ์) ระยะทางจำนวน 6.937 กิโลเมตร โดยสร้างเสร็จเมื่อปี 2564 ขณะนี้ถนนมีการใช้งานเป็นปกติ แต่ได้มีประชาชนส่งเรื่องราวร้องทุกข์มายังตน เนื่องจากตั้งข้อสงสัยเรื่องการฟันราคาต่ำกว่าความเป็นจริง ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลพบว่างบประมาณกลางที่กรมทางหลวงได้มีการตั้งไว้ อยู่ที่ 300 ล้านบาท แต่เมื่อมีการประมูลโครงการกัน พบว่ามีการหั่นราคากันจนมาอยู่ที่ 150 ล้านบาท ซึ่งลดลงไปกว่า 52% ดังนั้น สิ่งที่ตนขอให้ดีเอสไอช่วย คือ ช่วยตรวจพิจารณาการที่ภาคส่วนราชการตั้งงบประมาณสูงมากๆ ทั้งๆ ที่ถนนสายดังกล่าวเป็นถนนที่มีอยู่แล้ว แค่มีโครงการนี้เข้ามาเพื่อขยายเลนถนนเท่านั้น แต่เหตุใดภาครัฐจึงประเมินและตั้งวงเงินงบประมาณสูงลิ่ว อย่างไรก็ตาม ตนไม่ได้มองว่าการประมูลโครงการดังกล่าว มีพฤติการณ์ส่อทุจริตฮั้วประมูลหรือไม่ อย่างไร เพียงแค่ประสงค์ทราบว่านี่คือจุดอ่อนหรือไม่ ตั้งวงเงินงบประมาณสูง แต่ประมูลราคาต่ำมากๆ และบริษัทผู้รับเหมาก็ยังคว้าโครงการดังกล่าวไปทำได้ ด้วยราคา 150 ล้านบาทนี้ จึงขอให้ดีเอสไอดำเนินการเรียกเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในโครงการมาสอบถามว่าการตั้งงบประมาณ จำนวน 300 ล้านบาทนั้น ตั้งด้วยเหตุผล สมมุติฐานอะไร มูลฐานใด ประเมินอย่างไร แล้วบริษัทที่ชนะประมูลด้วยระบบ e-bidding นี้ ทำไมจึงชนะประมูลด้วยราคาที่ต่ำมากๆ ถือเป็นตัวเลขที่น่าเกลียด จาก 300 ล้านบาทเหลือ 150 ล้านบาท หากไปเทียบกับกรณีของกำนันนก ยังห่างเพียง 500-1,000 บาท หรือประมาณ 30% ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย เกือบทุกรายการของโครงการภาครัฐ ตนทราบดีว่าจะมีการประมูลฟันราคากันอยู่แล้ว แต่ขอให้ชี้แจงที่มาที่ไปของการตั้งวงเงินงบประมาณโครงการให้ชัดเจน

เมื่อถามว่าในช่วงการเปิดให้มีการยื่นซื้อซองประมูลโครงการ มีกี่บริษัทที่เข้าขั้นตอนนี้นั้น นายสนธิญา ระบุว่า ทราบว่ามีบริษัทเข้ามายื่นซื้อซองจำนวน 10 แห่ง แต่ห้างหุ้นส่วนจำกัดแห่งหนึ่ง กลับชนะการประมูล e-bidding ไป ท่ามกลางข้อกังขาของประชาชนในพื้นที่ และถึงแม้ว่าโครงการถนนสายดังกล่าว ก่อนมีการเปิดให้ใช้ จะต้องมีหน่วยงานราชการตรวจสอบคุณภาพงาน ตรวจรับงาน สเปกงาน ซึ่งผลการตรวจรับงานถือว่าผ่านนั้น ตนก็ยังติดใจในข้อสังเกตนี้อยู่ดี ว่าเงินที่เหลือของงบกลางที่หักไป เข้าหลวงหรือว่าอยู่ที่ใด

นายสนธิญา กล่าวด้วยว่า สำหรับบริษัทที่ประมูลโครงการถนนสายสหกรณ์ดังกล่าวนี้ ตั้งอยู่ที่จังหวัดราชบุรี เป็นบริษัทรับเหมาขนาดกลาง และมีบทบาทในการเข้าร่วมประมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐตลอด ส่วนชนะการประมูล e-bidding บ่อยครั้งขนาดไหน ตนยังไม่ได้ตรวจสอบแน่ชัด เพียงแต่มีโครงการนี้ที่ประชาชนส่งเรื่องร้องทุกข์มาให้ตนช่วยประสานหน่วยงานตรวจสอบ อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตด้วยว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด ทนงศักดิ์วิศวภัณฑ์ อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับทางบริษัทของกำนันนก ที่อยู่ที่จังหวัดนครปฐมด้วยหรือไม่ เพราะถือว่าเป็นพื้นที่จังหวัดที่มีเขตติดต่อกัน หากพบว่าในบรรดา 1,544 โครงการของกำนันนก ที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบของดีเอสไอ และหนึ่งในบรรดารายชื่อของผู้ยื่นซื้อซองปรากฏรายชื่อบริษัทดังกล่าวนี้ ก็อาจมีความเป็นไปได้ว่ามีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน เพียงแค่กำนันนกประมูลโครงการในจังหวัดนครปฐม ส่วน หจก.ดังกล่าว ประมูลโครงการในจังหวัดสมุทรสาคร จึงฝากหน่วยงานและสื่อมวลชนช่วยจับตาตรวจสอบด้วย.