สร้างความปีติให้กับ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี และครม. ที่จะน้อมนำพระราชดำรัสมาปฏิบัติ เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติ  เร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง

สำหรับสถานีต่อไป คือ รัฐบาลเดินหน้าแถลงนโยบายต่อรัฐสภา จากนั้นจะเป็นวาระแรกของ การปฎิบัติงานอย่างเป็นทางการของ “รัฐบาลเศรษฐา1”  ซึ่งได้มีการประชุมครม.นัดพิเศษก่อนแถลงนโยบาย ไปเมื่อวัน 6 กันยายน โดยวาระหลักครั้งนี้เป็นการอนุมัติร่าง นโยบายรัฐบาล เพื่อนำไปแถลงต่อรัฐสภา ทั้งนี้ทางรัฐสภาได้มีการวางกรอบเวลาการอภิปรายการ ไว้ 2 วัน คือ วันที่ 11-12 ก.ย. รวม 30 ชั่วโมง   

นโยบายเร่งด่วน 5 ข้อของรัฐบาล เศรษฐา 1ที่ตรียมแถลง คือ 1.การแจกเงินดิจิทัล 1หมื่นบาท  เป้าหมายคือหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยปลายทางคือมีภาษีกลับคืนสู่คลัง  2. การแก้ปัญหาหนี้สินภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคประชาชน 3. ลดค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม น้ำมันเชื้อเพลิง 4.การสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว  และ5. แก้ปัญหาความเห็นต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ  นอกจากนี้ยังมีการวางเป้าเปลี่ยนเกณฑ์ทหารเป็นแบบสมัครใจ การยกระดับบัตร 30 บาทรักษาได้ทุกโรงพยาบาลด้วยบัตรประชาชนใบเดียว สานต่อนโยบายความเป็นกลางคาร์บอน ที่สำคัญในนโยบายด้านการศึกษายังระบุชัดว่า รัฐบาลจะส่งเสริมนโยบายการอ่าน ให้ผู้เรียนได้เข้าถึงการเรียนรู้อย่างทั่วถึง อีกด้วย

แต่งานจับผิดก็ตามมาติด ๆ  จากคนเคยรักอย่าง พรรคก้าวไกล เปิดฉากฟาด คำแถลงของ นายเศรษฐา” ไม่มีนโยบายหาเสียงที่พรรคเพื่อไทย (พท.) เคยพูดไว้ในหลายเรื่อง ตั้งแต่รถไฟฟ้า กทม. 20 บาทตลอดสาย, ทุกครอบครัวมีรายได้ไม่น้อยกว่า 20,000 บาทต่อเดือน, ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวันภายในปี 2570 และเงินเดือนผู้จบปริญญาตรี 25,000 บาทต่อเดือนภายในปี 2570 ไม่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยตั้งคำถามว่า คำสัญญาหาเสียงหายไปเยอะขนาดนี้ ขอให้จับตาในการแถลงนโยบายรัฐบาลและติดตามการอภิปรายของพรรคก้าวไกล

โดยเฉพาะเรื่องโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) 10,000 บาท ให้กับประชาชนคนไทย อายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป ใช้ในรัศมี 4 กิโลเมตร ภายใน 6 เดือน ซึ่งเป็นนโยบายที่ต้องใช้งบประมาณสูง วงเงิน 5.6 แสนล้านบาท เป็นนโยบายของพรรคเพื่อไทย ที่ใช้หาเสียงเลือกตั้ง 2566 และเป็นนโยบายด้านเศรษฐกิจที่ถูกจับตามองมากอีกนโยบายหนึ่ง

“ศิริกัญญา ตันสกุล” สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ออกมาดักคอถึงที่มาของเงิน ว่า “ถ้าจะยืมเงินรัฐวิสาหกิจ 5 แสนล้าน กรอบวินัยการเงินการคลังตามกฎหมายให้ยืมได้แค่ 32% ของงบ (1.1 ลลบ.) และตอนนี้เกือบเต็มแล้ว ต้องขยายเพดานเป็น 45% ของงบ ถือเป็นการ ประเดิมงานแรกของนายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ด้วยการทลายกรอบวินัยการเงินการคลัง และโครงการที่กู้ยืมเงินรัฐวิสาหกิจยังมีปัญหาอีกอย่าง คือ ไม่อยู่ในงบประมาณ = ไม่ต้องผ่านสภา ไม่ต้องโดนสภาตรวจสอบตอนอนุมัติงบ

ด้านสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ก็ไม่น้อยหน้า เตรียมตั้งกำแพงเปิดเวทีรุมเขย่าแบบไฟแลบ ทั้งเรื่องนโยบายเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ที่ยังมีข้อสงสัยหลายแง่มุม และการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ อย่าง พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์  สว. อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด ออกโรงค้านแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพราะเสียงเงิน เสียเวลา เสียพลังงาน  พร้อมแนะว่า ถ้าบอกว่าไปสัญญาประชาชนเอาไว้แล้ว ก็คงไม่เป็นไร เพราะเห็นที่สัญญาไว้ ไม่ทำก็เยอะแยะไป เชื่อว่าประชาชนก็เข้าใจ ชี้แจงดีๆ ว่าจะทำหรือไม่ทำเพราะอะไร เชื่อว่าประชาชนเห็นใจ เพราะเขาก็ได้รับคำสัญญาสวยๆงามๆมาเยอะ เรื่องนี้คงไม่เป็นไร ขอให้ตั้งใจทำประโยชน์ให้บ้านเมือง

เป็นโจทย์ที่ “นายกฯเศรษฐา”ต้องไล่เรียงตอบให้ละเอียด แจงให้ชัดถึงที่มาของเงินที่จะไม่กลายเป็นภาระของประเทศเพราะที่ผ่านมาจะเห็นว่านโยบายประชานิยมของพรรคไทยรักไทยหลายเรื่องถูกใจคนไทย แต่หลายโครงการสร้างภาระให้กับงบประมาณของประเทศ

 ก่อนหน้านี้ “นายกฯนิด” เคยยอมรับว่า รัฐบาลทางพรรคเพื่อไทยได้เทหมดหน้าตัก ไม่มีต้นทุนเหลือแล้ว ซึ่งก็ถูกสายเกรียนโลกโซเชียลจวกเละ ว่า ความเชื่อมั่น และศรัทธาที่ดิ่งลง มาจากการตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว การไม่ทำตามนโยบายหาเสียง เป็นเพราะต้องการช่วงชิงพรรคก้าวไกลตั้งรัฐบาล สิ่งที่พูดไปนั้น คือ คำโฆษณาเท่านั้น อาทิ เรื่องการลดค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เรื่องค่าแรง 600 บาท และการประกาศไม่จับมือกับสองลุงจัดตั้งรัฐบาล สิ่งเหล่านี้คนไทยไม่ลืมง่ายๆ

อย่างไรก็ตาม บรรยากาศการเมืองตอนนี้ หลายคนอยากก้าวข้ามความขัดแย้ง และฝากความหวังในรัฐบาลใหม่ อยากลองให้ “เศรษฐา” ที่มีโปรไฟล์เป็นนักธุรกิจมือโปร ลงมือทำงานก่อนทดสอบฝีมือก่อน ทำให้สถานการณ์ “รัฐบาลเศรษฐา1” ดูเหมือนอยู่ในสัญญาณแดนบวก แต่อย่าหลงเพลินไปกับทุ่งลาเวนเดอร์ เพราะถ้าพรรคก้าวพลาดแค่ครั้งเดียว ปล่อยให้มีเรื่องทุจริตคอรัปชั่น ก็อาจจะปิดฉาก “รัฐบาลเศรษฐา 1”ได้เช่นกัน

ต้องไม่ลืมว่า รากกฐานเก้าอี้นายกฯของ “เศรษฐา” คือ พรรคเพื่อไทย ซึ่งเคยถูกปฏิวัติรัฐประหารมาแล้วถึงสองครั้ง ตั้งแต่รัฐบาล “ทักษิณ ชินวัตร” สู่รัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ด้วยข้อหาทุจริตจนมีคดีติดตัวต้องหนีหัวซุกหัวซุนลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ แม้“ทักษิณ”จะได้กลับประเทศ แต่ต้องมารับโทษตามวิบากกรรม จึงถือว่า เป็นบทเรียนที่ “เศรษฐา”ต้องท่องให้ขึ้นใจว่า หากทำอะไรไม่ถูกครรลองคลองธรรม จะซ้ำรอยวิบากกรรม  “2 นายกฯ ตระกูลชินวัตร” ได้

อย่างไรก็ตามสัปดาห์ที่ผ่านมา“นายกเศรษฐา” มาแบบท็อปฟอร์ม ประเดิมงานแรกเป็นประธาน เปิดงานวันต่อต้านคอร์รัปชัน ประกาศบนเวทีว่า การปราบปรามทุจริต เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาลและเป็นหน้าที่หน่วยงานรัฐต้องสนับสนุนและปฏิบัติตามอย่างไม่มีข้อยกเว้น ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับการรับรู้เรื่องการทุจริตเป็นอันดับ 4 ของอาเซียน ต่ำกว่า สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม 

จึงเป็นเรื่องที่เราต้องพัฒนา เพราะประเทศเหล่านั้นเป็นคู่แข่งทางการค้าของเรา เพราะเรื่องการทุจริตทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นแก่นักลงทุน และทำให้เศรษฐกิจถดถอยกระทบจีดีพี เพื่อให้ปัญหาทุจริตหมดไป รัฐบาลมีนโยบายนำเทคโนโลยี เข้ามาเพื่อความโปร่งใสตรวจสอบได้ และใช้กฎหมายที่เฉียบขาด จะไม่ให้มีการเรียกรับสินบนหรือมีการซื้อขายตำแหน่งต่างๆ พร้อมประกาศปักหมุดลุยงานทันทีสร้างรายได้เข้าประเทศ

ขณะที่บรรดารัฐมนตรียิ้มร่าหาฤกษ์งามยามดีเข้ากระทรวงรอนั่งรอปั่นงานอย่างเป็นทางการ แต่ต้องยอมรับว่า ข้อวิจารณ์เรื่องรัฐบาล “เศรษฐา 1” มีรัฐมนตรีสายล่อฟ้าหลายคน มีหลายกระทรวงที่ถูกจับจ้องในการทำงาน ซึ่งเศรษฐา บอกชัดเจนว่า ไม่ต้องกังวล หาก กระทรวงไหนมีปัญหา รัฐมนตรีคนใดมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม นายกฯมีอำนาจที่จะเข้าชาร์ตพร้อมแก้ไขปัญหาได้ทันที

แต่การแก้ปัญหาแบบถึงลูกถึงคน ล้วงลูกพรรคร่วมรัฐบาลโดยไม่ถูกจังหวะ จะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว เป็นเชื้อไฟของการขบเหลี่ยม ปีนเกลียว เกิดรอยร้าวระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล จุดนี้ถือว่าเป็นจุดอันตรายที่จะทำให้ “รัฐบาล เศรษฐา1”สะดุดเดินต่อไม่ได้

แต่เชื่อว่า ไม่ว่าจะเกิดฉากขบเหลี่ยมว้าวุ่นระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลหนักมากแค่ไหน บรรดาพลพรรคการเมืองต่างต้องกลืนเลือดเดินหน้าต่อไป ด้วยรู้ดีว่าถ้ารัฐบาลเดินหน้าต่อไปไม่ได้ สนามเลือกตั้งที่รออยู่ข้างหน้า คือทางวิบากของกลุ่มรัฐบาลข้ามขั้ว สงครามครั้งใหม่ในสนามเลือกตั้ง มี “สีส้ม” เป็นผู้ชนะรออยู่ที่เส้นชัยแล้ว สภาพการเมืองต่อไปจึงจะได้เห็นอาการพรรคร่วมรัฐบาลต้องกลืนเลือดเพื่อรักษาชีวิตอยู่เนือง ๆ.