นายปัญญา เลิศหงิม นายกสมาคมรถตู้โดยสารสาธารณะกรุงเทพฯ ปริมณฑล เปิดเผยว่า ขณะนี้จำนวนผู้โดยสารรถตู้หมวด 1 และ หมวด 4 ที่ให้บริการในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่เป็นร่วมบริการกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ประมาณ 2,000 กว่าคัน ยังมีการใช้บริการเท่าเดิม ยังไม่เพิ่มขึ้น บางเส้นทางยังมีผู้โดยสารใช้บริการ 20 คนต่อวัน หรือเฉลี่ยต่อเที่ยว 2-5 คน ทำให้มีรายได้ 200-300 บาทต่อวัน แม้รัฐบาลจะคลายล็อกเมื่อวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมาก็ตาม เนื่องจากยังมีเคอร์ฟิวช่วง 22.00-04.00 น. และ หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และบริษัทเอกชนยังทำงานที่บ้าน (Work Form Home)
อย่างไรก็ตามถ้ารัฐมีการผ่อนคลายมากขึ้น จะทำให้ผู้โดยสารกลับมาเดินทางอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการรถตู้อยู่ต่อได้ และกลับมาเดินรถได้เหมือนเดิม เพราะขณะนี้ตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ โควิด-19 รอบนี้ ใช้มาตรการคุมเข้มล็อกดาวน์ทำให้ผู้ประกอบการรถตู้หยุดเดินรถกว่า 1,000 คัน และ จากจำนวนที่มีทั้งหมด 2,000 กว่าคัน เนื่องจากไม่มีผู้โดยสาร เดินรถไปมีค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะช่วงนี้ราคาค่าน้ำมันเชื้อเพลิงก๊าซ NGV มีราคาไม่คงที่ปรับขึ้นต่อเนื่อง จากเดิมราคา 12.30 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่มเป็น 15.58 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะทุกประเภทได้เรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือในการปรับลดราคาแล้วก็ตาม
“นอกจากนี้ขอให้รัฐบาลช่วยเหลือในเรื่องการพักชำระหนี้ โดยให้สถานบันการเงินหรือบริษัทไฟแนนซ์ต่างๆ ช่วยพักชำระหนี้ไม่ต้องจ่ายค่างวดรถ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการรถตู้และสามารถพยุงธุรกิจให้อยู่รอดต่อไปได้ เพราะจากผลกระทบโควิดรอบแรกจนถึงปัจจุบันได้ขอเยียวยามาโดยตลอด ซึ่งได้รับบ้าง ไม่ได้รับบ้าง ครั้งนี้ไม่ไหวจริงๆ หากไม่ได้รับความช่วยเหลือต้องปล่อยให้รถถูกยึด แล้วกลับภูมิลำเนา เพื่อไปประกอบอาชีพอื่นต่อไป ที่ผ่านมาผู้ประกอบการดิ้นรนและต่อสู้มาโดยตลอด” นายปัญญากล่าว