การท่องเที่ยวในรูปแบบดังกล่าว ปัจจุบันหลายประเทศให้ความสำคัญ ทั้งนี้ชวนเดินทาง ชวนรู้จักการท่องเที่ยวแบบโลว์คาร์บอน การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ที่ช่วยลดโลกร้อน การรู้ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าเหมาะสม โดย ผศ.ดร.นพปฎล ธาระวานิช อาจารย์ประจำสาขาการจัดการการท่องเที่ยวเเละการบริการ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้มุมมองการท่องเที่ยวแบบโลว์คาร์บอน ท่องเที่ยวอย่างไร? โดยทุกคนมีส่วนร่วมช่วยโลกได้ว่า จากที่ผ่านมา หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน ผู้ประกอบการร่วมกันดำเนินการ โดยการท่องเที่ยวโลว์คาร์บอนทำให้เกิดความยั่งยืน ไม่เพียงเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม ในด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ฯลฯ ก็ส่งผลต่อกัน

“คาร์บอนที่เกิดจากการท่องเที่ยวโดยการเดินทางมีมากถึง 75 เปอร์เซ็นต์ของระบบการท่องเที่ยวทั้งหมด ที่ผ่านมา จึงคิดกันว่าจะทำอย่างไรที่จะลดการปล่อยคาร์บอนออกไปให้ได้มากสุดเท่าที่จะทำได้ จึงเกิดกิจกรรมต่าง ๆ ขึ้น ดังเช่น การขี่จักรยาน ท่องเที่ยวชุมชน เที่ยวชมเมือง ฯลฯ โดยการขี่จักรยานการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ ซึ่งปัจจุบันก็ได้รับความสนใจ ทั้งมีการพัฒนาเครือข่ายขึ้น เป็นต้น”

ในต่างประเทศก็มีแบบอย่างดังเช่น เกาะปาลาวัน ประเทศฟิลิปปินส์ รีสอร์ทที่นั่นให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ ใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นโดยชุมชนพัฒนาผลิตภัณฑ์ของท้องถิ่นนำมาใช้ในรีสอร์ทแทนการสั่งมาจากที่อื่น ใช้วัตถุดิบการทำอาหารจากท้องถิ่น อีกทั้งพนักงานในรีสอร์ทเป็นคนในท้องถิ่น ทั้งนี้เพื่อลดการเดินทาง โดยการเดินทางไปกลับทำให้เกิดการปล่อยคาร์บอน ทั้งมีกิจกรรมให้กับนักท่องเที่ยวได้มีส่วนร่วม เช่น การปลูกป่า การรักษาสิ่งแวดล้อม และที่น่าสนใจจากที่นี่คือ การกำจัดขยะ ฯลฯ เป็นแบบอย่างหนึ่งที่แสดงถึงความตั้งใจ โดยหากทำอย่างจริงจังก็สามารถลดคาร์บอนลงได้

อาจารย์ประจำสาขาการจัดการการท่องเที่ยวเเละการบริการผศ.ดร.นพปฎล อธิบายเพิ่มอีกว่า จากที่กล่าวคาร์บอนมีผลต่อโลกร้อน ส่วนจะเกิดอะไรขึ้นกับการท่องเที่ยวนั้น ต้องบอกว่าเกิดผลกระทบหลายด้านดังเช่น จำนวนนักท่องเที่ยว การเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวจนเกินความสามารถรองรับ จะเกิดปัญหาเรื่องมลภาวะทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นความแออัดของนักท่องเที่ยวในพื้นที่ในแหล่งท่องเที่ยว

ขณะที่แหล่งท่องเที่ยวเสียความสมดุลตามธรรมชาติไป โดยแทนที่จะได้สัมผัสธรรมชาติก็จะเห็นแต่ผู้คน อีกทั้งในเรื่องของ ขยะ หากไม่มีการจัดการ ไม่มีการคัดแยกจัดเก็บก็จะเกิดเป็นปัญหาตามมาอีก เช่นเดียวกับเรื่องของสุขอนามัย รวมถึงเกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม อย่างเช่น แต่เดิมชุมชนจำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้าในท้องถิ่น แต่เปลี่ยนมาขายสินค้าที่นักท่องเที่ยวอยากได้ ความเป็นอัตลักษณ์ เอกลักษณ์ของชุมชนเปลี่ยนไป ฯลฯ

“การท่องเที่ยวในรูปแบบนี้จึงเป็นการสร้างความตระหนัก การรักษาสิ่งแวดล้อม รักษาสภาพสังคม วิถีชีวิตชุมชน เรียนรู้วิถีชีวิตวัฒนธรรม ทำให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ โดยนักท่องเที่ยวได้สัมผัสชุมชน อย่างเช่น ถ้าไปเที่ยวชุมชนเครื่องปั้นดินเผา ได้เรียนรู้วิธีการนวดดิน การปั้นกระถาง เห็นการทำงานของช่างปั้น ฯลฯ เป็นการท่องเที่ยวที่สร้างความยั่งยืน ทั้งเป็นการลดคาร์บอนไปในตัว เป็นการถนอมรักษาทรัพยากรธรรมชาติคงอยู่”

ผศ.ดร.นพปฎล สะท้อนมุมมองการท่องเที่ยวรักษ์โลก เที่ยวแบบโลว์คาร์บอนที่ทุกคนมีส่วนร่วมได้เพิ่มอีกว่า การคำนึงถึงธรรมชาติสิ่งแวดล้อมมีความเป็นลำดับแรก โดยเบื้องต้นก่อนการท่องเที่ยวเตรียมความพร้อม ศึกษาข้อมูล การบริหารจัดการในพื้นที่ก็มีความสำคัญ สิ่งใดที่เป็นการปล่อยคาร์บอนไปในชั้นบรรยากาศได้มากควรแก้ไข ทั้งนี้จากข้อมูลพบว่า การใช้พลังงาน การเปิดไฟ เปิดเครื่องปรับอากาศ ฯลฯ ทำให้เกิดการปล่อยคาร์บอนออกมามากถึง 90 กว่าเปอร์เซ็นต์

ขณะที่การไปท่องเที่ยว ไม่จำเป็นต้องนำสิ่งใดไปมาก เพราะการขนของไปมากจะเป็นภาระเรื่องนํ้าหนัก ทั้งนี้ในความต่างของคนหนึ่งคนถ้าถือของหนักต่างกัน 10 กิโลกรัม คาร์บอนที่ถูกปล่อยออกไปก็ต่างกัน เตรียมของใช้เท่าที่จำเป็น นอกจากนี้ ลดการใช้พลาสติก ใช้ภาชนะวัสดุธรรมชาติ ลดใช้อุปกรณ์ที่ใช้ครั้งเดียว เลือกใช้อุปกรณ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ซํ้า เพื่อลดขยะ พักในสถานที่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้ของในท้องถิ่น กินอาหารในท้องถิ่น อย่างเช่นไปภาคเหนือ กินอาหารพื้นเมือง กินอยู่เช่นเดียวกับคนในท้องถิ่น ส่วนถ้าไปท่องเที่ยวในเมือง ใช้จักรยาน ใช้รถโดยสารธารณะในท้องถิ่นแทนการขับรถส่วนตัวไปท่องเที่ยว เป็นต้น

อาจารย์ประจำสาขาการจัดการการท่องเที่ยวเเละการบริการผศ.ดร.นพปฎล ให้มุมมองทิ้งท้ายอีกว่า การท่องเที่ยวในรูปแบบโลว์คาร์บอน ทางเลือกในการช่วยลดการปล่อยคาร์บอนให้น้อยลง การสื่อสาร การให้ข้อมูลเพื่อให้เห็นถึงความสำคัญมีความจำเป็น และจะเกิดขึ้นได้ ไม่ใช่เฉพาะนักท่องเที่ยว ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ทุกส่วนมีส่วนร่วม เป็นกลไกร่วมสร้างความยั่งยืน.