เริ่มจาก กระทรวงการคลัง หัวเรือใหญ่ในการคุมรายรับรายจ่ายของประเทศ ภารกิจแรกต้องเข้ามาเร่งสะสาง การจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 67 โดยด่วนที่สุด หลังจากคาดจะล่าช้าไป 8 เดือน พร้อมกับเดินหน้าทำงบปี 68 คู่ขนานไปด้วย เพื่อให้กดปุ่มให้เงินจากภาครัฐไหลเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นปกติโดยเร็ว ล่าสุด ครม. อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณใช้ไปพลางก่อน 8 เดือน ไม่เกิน 1.8 ล้านล้านบาท ซึ่งจะเริ่มอนุมัติงบประมาณ 1 ต.ค. 66

ขณะเดียวกันต้องเข้ามาสางภาระหนี้ภาครัฐ หลังรัฐบาลประยุทธ์ สุมหนี้ไว้กองโตจนพังทลายเพดานวินัยการเงินการคลังไปถึง 2 ครั้ง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาหนี้สาธารณะที่พุ่งไป 61.26% ของจีดีพี เพดานก่อหนี้ภาครัฐ มาตรา 28 ที่ขยายจาก 30% เป็น 35% ตลอดจนต้องเข้ามาจัดระเบียบ สวัสดิการต่างๆ เพื่อลดความซ้ำซ้อน หลังที่ผ่านมา หว่านเงินแบบไร้ประสิทธิภาพ เพื่อเป็นช่วยลดรายจ่ายภาคการคลัง ให้รัฐบาลมีเงินไปใช้ทำนโยบายด้านอื่นได้ ตลอดจนการตัดสินใจแก้ปมภาษี เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จะต่ออายุลดต่อหรือปล่อยให้ขึ้นเป็น 10%

เคลียร์เรื่องหวย-โผโยกย้าย

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องใกล้ตัวคนไทย อย่างการออกสลากใหม่ ทั้งสลากเลข 3 หลัก หรือเอ็น 3 และลอตเตอรี่6 หรือแอล6 ที่แม้กฎหมายจะผ่าน ครม. ไปแล้ว แต่ก็ยังต้องรอดูสำนักงานสลากฯ จะออกสลากทั้ง 2 ประเภท มาอย่างไร เท่าไร และออกมาตอนไหน เพราะตรงนี้เป็นกุญแจสำคัญในการช่วยหาเงินเข้าคลังได้เพิ่มขึ้น แต่ก็ต้องแรกกับการต่อต้านจากวงการหวยใต้ดิน นายทุนสลาก ที่จะเสียผลประโยชน์ไปมหาศาล

รวมทั้งจัดตั้งโผโยกย้ายข้าราชการครั้งใหญ่ โดยรอบนี้ต้องเฟ้นหาปลัดคนใหม่มาแทนที่ กฤษฎา จีนะวิจารณะ ที่ไปนั่งเป็น รมช.คลัง อีกทั้งต้องรอดูการแต่งตั้งเอ็มดีของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ที่ว่างลง และค้างคามาจากรัฐบาลที่แล้วด้วย

วัดใจอนาคตรถยนต์ไฟฟ้า

อีกเรื่องที่น่าสนใจซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง กระทรวงการคลัง กับ กระทรวงอุตสาหกรรม คือ มาตรการการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า ที่กำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม รอดูว่ารัฐบาลใหม่จะเอาอย่างไรต่อ เพราะรัฐบาลที่แล้วเริ่มต้นด้วยแพ็กเกจภาษี รวมถึงเงินอุดหนุนส่วนลดสูงสุดถึงคันละ 1.5 แสนบาท แต่มา ณ วันนี้ งบก้อนเดิมที่ได้รับจัดสรร 3 พันล้านกำลังจะหมดลง ก็ต้องดูกันว่ารัฐบาลจะหาเงินจากไหนมาใช้ต่อ หรือออกมาตรการอื่นๆ มาสนับสนุนดึงต่างชาติเข้ามาลงทุนผลิตในไทยเพิ่มหรือไม่ โดยเฉพาะเรื่องภาษีแบตเตอรี่ ที่สรรพสามิตตั้งเรื่องไว้แล้ว รอเพียงรัฐบาลจะเยส หรือโน

ขณะเดียวกัน กระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ จะต้องทำแผนผลักดันมาตรการยานยนต์ไฟฟ้ารอบใหม่ หรืออีวี 3.5 ซึ่งจะมีทั้งการขยายเวลา ปรับปรุงเงื่อนไข เงินสนับสนุน พร้อมกับแผนเดินหน้าสร้างศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ เพื่อให้ไทยเป็นผู้นำและเป็นศูนย์กลางการทดสอบ และรับรองในภูมิภาคอาเซียน

อุตฯ ชาวไร่รอเงินแก้ลักลอบเผา 

งานด้านอื่นของกระทรวงอุตฯ ก็ต้องเดินหน้าแก้ปัญหาอ้อยที่ถูกลักลอบเผา ช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดี แก้ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 โดยชาวไร่อ้อย รอเงินช่วยเหลือเพิ่มอีกตันละ 120 บาท รวมถึงการผลักดันมาตรฐานการปล่อยมลพิษตามมาตรฐานยูโร 6 ให้เร็วขึ้น เป็นหนึ่งในมาตรการลดฝุ่นพีเอ็ม 2.5 จะทำควบคู่กับการใช้มาตรฐานยูโร 5 สำหรับรถยนต์ใหม่ หลังจาก ครม. ได้เลื่อนให้เริ่มใช้เป็นวันที่ 1 ม.ค. ปี 67 จากเดิมต้องใช้ภายในปี 64

ขณะเดียวกันยังมีแผนปฏิบัติการอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะ 4 อุตสาหกรรม ประกอบด้วย อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ อุตสาหกรรมชีวภาพของไทย และ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลก

โจทย์ร้อนแก้น้ำมันแพง-ค่าไฟพุ่ง

ข้ามมาโจทย์ร้อน กระทรวงพลังงาน ต้องเร่งแก้ปัญหาค่าครองชีพ โดยเฉพาะการดูแลราคาพลังงาน ที่ยังผันผวน และพุ่งสูง ทั้งราคาน้ำมันดีเซล ก๊าซแอลพีจี พร้อมเร่งสางหนี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ยังติดลบตัวแดงหลายหมื่นล้านบาท ตลอดจนแผนดูแลค่าไฟฟ้า ที่ประเทศไทย ยังสูงกว่าเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเวียดนาม ที่ราคาประมาณหน่วยละ 2.80 บาท ขณะที่ราคาค่าไฟของไทยงวดล่าสุดอยู่ที่หน่วยละ 4.45 บาท จนทำให้ประชาชนร้องโอดโอย รวมทั้งภาคอุตสาหกรรม ต้องสูญเสียขีดความสามารถการแข่งขันคู่แข่ง   

นอกจากนี้ต้องดูแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2566-2580 หรือพีดีพี 2023 ที่ปรับแล้วปรับอีก แต่ก็ยังไม่แล้วเสร็จ รวมทั้งปัญหาการแต่งตั้งผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. คนใหม่ แทน “บุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร” ที่ได้หมดวาระไปแล้ว จนต้องแต่งตั้งรักษาการขึ้นมาแทน จากที่ผ่านมาบอร์ด กฟผ. ได้คัดเลือก “เทพรัตน์ เทพพิทักษ์” รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ปฏิบัติงานกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ผลิตไฟฟ้า เป็นผู้ว่าการ กฟผ. คนที่ 16 ตั้งแต่เดือน มี.ค. ที่ผ่านมาแล้ว

ส่งออกโคม่า ค่าครองชีพราคาแพง

ถัดมาไปที่ กระทรวงพาณิชย์ มีภารกิจสำคัญ 2 ฟาก นอกประเทศอย่างการส่งออกที่กำลังร่อแร่ ติดลบ 7 เดือนติด แถมหลายหน่วยงานก็ฟันธงปีนี้ไม่รอดแหง ซึ่ง รมว.พาณิชย์ คนใหม่จะต้องเข้ามาแก้ไขสถานการณ์ ทำอย่างไรให้ส่งออกออกดีกว่าเดิม เพราะอย่างที่รู้ๆ กันว่า ตัวเลขการส่งออกมีสัดส่วนถึง 60-70% ของจีดีพี หากฟื้นได้ จีดีพีก็คงแล่นฉิว ขณะเดียวกันหากติดลบแบบกู่ไม่กลับ ก็เสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยจะดิ่งเหวตามด้วย

ขณะที่งานในประเทศ ต้องเข้ามาขจัดปัญหาของแพง ค่าครองชีพโหด เพราะหลังจากสิ้นสุดโควิดมา สินค้าสำคัญหลายรายการก็พาเหรดขึ้นราคาอย่างหนักหน่วง ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ ก็ดึงไม่ลงจนทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนกันไปทั่ว โดยเฉพาะไข่ไก่ วันนี้ทะลุฟอง 4-5 บาท แพงสุดเป็นประวัติการณ์ เช่นเดียวกับอาหารจานด่วน สำเร็จรูปที่ยังคงแพงขึ้นต่อ แม้ต้นทุนเนื้อหมู พืชผักหลายตัวจะลดลงก็ตาม

ท่องเที่ยวทรุดรายได้หลุดเป้า

นอกจากนี้ ยังมีงานจิปาถะ เช่น การเดินหน้าจัดทำเอฟทีเอ ที่ยังคั่งค้างอยู่หลายฉบับ โดยเฉพาะไทย-สหภาพยุโรป เอฟทีเอไทย-ตุรกี เอฟทีเอไทย-เอฟตา รวมถึงการแก้ปัญหาเอสเอ็มอี ให้สามารถนำหลักประกัน เช่น ต้นไม้ ทรัพย์สินทางปัญญาเข้ามาขอสินเชื่อ หลังผลักดันมาแล้วหลายปี แต่ยังย่ำอยู่กับที่เหมือนเดิม

หันมาดู ภาคการท่องเที่ยว ความหวังหนึ่งเดียวของไทย ซึ่งต้องบอกว่าผิดฟอร์ม โดยเฉพาะตลาดความหวังอย่างจีน ถึงตอนนี้หลุดเป้าหมายไปแล้วกว่า 1 ล้านคน หลังจีนเองเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจภายใน อีกทั้งไทยก็มีข้อจำกัด เรื่องการทำวีซ่าที่ยุ่งยาก ล่าช้า และไฟลต์เที่ยวบินมีจำกัด ทำให้คาดว่า แม้ทั้งปีนักท่องเที่ยวต่างชาติจะไม่น้อยกว่าเป้า 28 ล้านคน แต่รายได้น่าจะหล่นวูบไปกว่า 2 แสนล้านบาท เหลือแค่ 1.03 ล้านล้านบาท ลดจากเดิม 1.27 ล้านล้านบาท ดังนั้น รมว.การท่องเที่ยวฯ คนใหม่จึงมีการบ้านหนักอึ้ง ที่จะหาทางเข็นการท่องเที่ยวให้ถึงฝั่ง

ดีอีเร่งแก้ปัญหาโจรออนไลน์

ขณะที่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) งานเร่งด่วนที่รอ รมต.คนใหม่ เรื่องแรกหนีไม่พ้นการแก้ปัญหาการหลอกหลงทางออนไลน์ ที่ช่วง 1 ปี มีการแจ้งความออนไลน์สูงถึง 3 แสนคดี แม้ต่อมาจะออก พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปราม อาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 มาเริ่มใช้แล้ว แต่ดูเหมือนว่า โจรออนไลน์ และแก๊งคลอเซ็นเตอร์ ก็ยังเหิมเกริมไม่เลิก ล่าสุดยังรับน้องรัฐบาล ด้วยการนำนโยบายแจกเงินดิจิทัลหมื่นบาท ไปทำแอปปลอม หลอกชาวบ้านกันอีก

ส่วนอีกเรื่องปัญหา บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ เอ็นที ที่แม้จะควบรวมเสร็จมา 2 ปีกว่าแล้ว แต่ดูเหมือนว่า การทำงานยังไม่เข้าที่ ทั้งเรื่องปรับโครงสร้าง และที่สำคัญการเดินหน้าธุรกิจมือถือ 5จี ที่ประมูลคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ มาได้ตั้งแต่ปี 63 ด้วยเงินสูงถึง 3.6 หมื่นล้านบาท แต่ถึงวันนี้ ยังกอดคลื่นไว้เฉยๆ ไม่ได้นำมาหารายได้เลย และยังต้องดูปัญหาการขาดรายได้ หลังปี 68 ใบอนุญาตคลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิรตซ์, 2100 เมกะเฮิรตซ์ และ 2300 เมกะเฮิรตซ์ จะหมดอายุลง ทำให้เอ็นทีเสี่ยงขาดรายได้ปีละ 1 หมื่นล้าน

ระเบิดเวลาสารพัดหนี้

ข้ามมาดูฟากการเงิน กับปัญหาสารพัดหนี้ ที่รอรัฐบาลชุดใหม่เร่งจัดการ โดยเฉพาะเรื่องหนี้ครัวเรือน ที่ปัจจุบันพุ่งสูงระดับ 90.6% ของจีดีพี แม้ที่ผ่านมาหลายรัฐบาลจะแก้ไข แต่ก็ยังไม่สำเร็จ เพราะมีหนี้หลายประเภท หลายกลุ่ม และเป็นหนี้หมักหมมมานาน ซึ่งแม้ธนาคารแห่งประเทศไทย จะพยายามแก้แล้ว ด้วยการให้สถาบันการเงินปล่อยกู้อย่างรับผิดชอบ คือก่อนจะปล่อยสินเชื่อออกไปก็ต้องคิดพิจารณาให้ดี บอกข้อมูลให้ครบถ้วน คิดดอกเบี้ยอย่างเป็นธรรม รวมถึงการแก้ปัญหาหนี้กลุ่มเรื้อรังที่คั่งค้างมานับ 5 ปี ด้วยการคิดดอกเบี้ยต่ำเหลือ 15% ต่อปี แต่การทำสำเร็จ ดูแล้วก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องหนี้นอกระบบ ที่เหมือนเป็นหลุมดำ ไม่มีข้อมูลระบุชัดว่าใครมีหนี้นอกระบบเท่าไร และก็ไม่รู้ว่าคนที่มีหนี้ในระบบ ได้มีหนี้นอกระบบอีกหรือเปล่า ซึ่งรัฐบาลชุดใหม่ ต้องโฟกัสให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยมีแนวทางแก้หนี้ครัวเรือนได้ทั้งในระบบ และนอกระบบควบคู่กัน ลำพังแค่พิโกไฟแนนซ์อาจจะยังไม่พอ เพราะคนค้างจ่ายหนี้เสียล้นทะลักอยู่ทุกวัน

ฟื้นความเชื่อมั่นตลาดหุ้น-ลุ้นเก็บภาษี

ไปต่อที่ ตลาดหุ้น ภาคเอกชนส่งสัญญาณขอเข้าคุยรัฐบาลด่วน เพื่อสังคายนาตลาดหุ้นยกใหญ่ ทั้งด้านกฎเกณฑ์ กฎหมายต่างๆ ที่อยากจะแก้ไขให้สอดคล้องกับยุคดิจิทัล ให้สะดวก รวดเร็ว รวมถึงการแก้ปัญหาที่ด้านความเชื่อมั่นในตลาดทุน หลังเกิดกรณีหุ้นสตาร์ค หุ้นมอร์ ที่ต้องแก้ไข เพื่อเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนกลับมาโดยด่วน

นอกจากนี้ ในฟากบริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน (บลจ.) ก็ต้องการเสนอกองทุนใหม่ ให้รัฐบาลพิจารณาเพื่อตอบโจทย์การออมของคนไทย หลังจากกองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว (เอสเอสเอฟ) จะหมดอายุลงในปีนี้ ซึ่งจำเป็นต้องปรับปรุงให้กองทุนเอสเอสเอฟมีความน่าสนใจมากขึ้น โดนใจนักลงทุนมากกว่าเดิม

ที่สำคัญต้องดู “การเก็บภาษีการขายหุ้น” ที่สะดุดจากรัฐบาลที่แล้ว จะเดินหน้าต่อไปทางไหน หลังภาคเอกชนค้านหัวชนฝามาตลอด ตลาดหุ้นไทยยังไม่เหมาะที่จะเก็บภาษี เพราะกำลังผันผวนหนัก หากเก็บภาษีอีก อาจทำให้ต่างชาติเทขายหนักกว่าเดิม ซึ่งประเมินกันว่า หากเก็บภาษีขายหุ้นจริง จะทำให้มูลค่าการซื้อขายหุ้นไทยหดตัว 30-40% จึงต้องวัดใจรัฐบาลใหม่ว่า จะตัดสินใจแบบ ระหว่างรายได้เงินภาษีมาปะตูดรัฐบาล หรือซื้อเวลาประคองความเชื่อมั่นจากนักลงทุนไปก่อน ในช่วงที่มีความไม่แน่นอน

เสนอค้าปลีกปลอดภาษีใน 5 ปี

ฟากด้านการค้าเอกชน อย่าง สมาคมค้าส่งค้าปลีก อยากเสนอให้รัฐบาลใหม่ศึกษามาตรการเรื่องการแข่งขันด้านสิทธิทางภาษีให้ร้านโชห่วยขนาดเล็กสามารถเข้าสู่ระบบภาษีได้อย่างเต็มตัว อาทิ เปิดแคมเปญค้าปลีกปลอดภาษี 5 ปี โดยให้สิทธิสำหรับร้านโชห่วยที่เปิดใหม่ ได้ยกเว้นการจ่ายภาษี 3-5 ปี เพื่อให้ร้านค้าสามารถตั้งตัวได้แล้วเก็บภาษีภายหลัง ซึ่งจะทำให้มีคนอยากเข้าสู่ระบบการค้ามากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงวัยหลังเกษียณ เพื่อสร้างแรงใจให้คนสูงอายุทำกิจการเล็กๆ ไม่ต้องเป็นภาระของลูกหลาน 

ขณะที่ ภาคอสังหาริมทรัพย์ อยากให้นายกฯ เศรษฐา ที่เคยอยู่ในภาคธุรกิจนี้มาก่อน ช่วยดูแลภาคอสังหาฯ ไทยเป็นการด่วน เช่น เสนอให้ต่างชาติเข้าซื้ออสังหาฯ ไทย ได้ทั้งบ้าน ทาวน์เฮาส์ แต่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของหน่วยงานรัฐ เพราะปัจจุบันมีการซื้อแบบหลบๆ ซ่อนๆ ผ่านนอมินีแทน เชื่อว่าหากทำสำเร็จ จะช่วยให้เงินหมุนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพิ่มอีก 6 เท่าตัว นอกจากนี้ ยังอยากเห็นรัฐบาลใหม่ช่วยผ่อนปรนมาตรการแอลทีวี รวมถึงต่ออายุมาตรการด้านการลดค่าโอน ค่าจดจำนอง ที่จะสิ้นสุดในปีนี้ออกไปด้วย

เหล่านี้ก็ถือเป็นงานเฉพาะหน้าที่กำลังรอบรรดารัฐมนตรีใหม่กันอยู่ ซึ่งต้องบอกว่าเป็นแค่ออร์เดิร์ฟน้ำจิ้มเท่านั้น ของจริงยังมีปัญหาซุกไว้ใต้พรมรออีกมาก รอให้สะสาง เคลียร์โดยด่วน เพราะเศรษฐกิจไทยในตอนนี้ต้องบอกว่า รออีกไม่ไหวแล้ว