“มองไกล เห็นใกล้” ขอมองข่าวนี้ในอีกแง่มุมน่าสนใจที่แฝงอยู่คือ “การใช้ความรุนแรงในครอบครัว” ซึ่งหากใครนิยมบริโภคข่าว คงเห็นผ่านตาบ้าง ไม่มากก็น้อย ถึงเรื่องราวของ “เหยื่อ” จากความรุนแรงในครอบครัว ทั้งสามีทำร้ายภรรยา พ่อทำร้ายลูก เด็กถูกชำเราจากญาติ หรือคนใกล้ชิด

กรณีหลังนี้ เหยื่อหลายรายถูกกระทำมานานร่วมปี กว่าเรื่องจะแดงขึ้นมาให้คนอื่นรู้ เหล่านี้ถูกนำเสนอแทบทุกสัปดาห์ ยิ่งระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา มีมูลนิธิ หรือกลุ่มอาสามากมาย เปิดหน้าช่วยเหลือผู้ถูกกระทำ รวมถึงสื่อมวลชนที่หยิบยกเรื่องราวที่รับแจ้ง หรือรับรู้มาเปิดเผยให้เห็นมากขึ้น แต่ก็มีเหยื่ออีกหลายรายเช่นกัน ที่ยังรอวัน “หลุดพ้น”

จากข้อมูลกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พบข้อมูลสถิติเกี่ยวความรุนแรงในครอบครัวของปี 2565 มีจำนวน 2,347 ราย และหากย้อนกลับไปในปี 2564 พบจำนวน 2,177 ราย สะท้อนให้เห็นว่าความรุนแรงในครอบครัวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกันเมื่อเร็วๆ นี้ มีสถิติเปิดเผยออกมาจากฟากฝั่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ชี้ให้เห็นภาพความรุนแรงในครอบครัว ช่วงระหว่างปี 2560-2565 ว่ามีผู้เข้าขอรับความช่วยเหลือจากกระทรวงสาธารณสุขกว่า 15,000 ราย ส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิง

พร้อมมองมุมการช่วยเหลือเหยื่อของหน่วยงานภาครัฐว่า ยังมีความซ้ำซ้อนในการดำเนินการของหลายหน่วยงาน แต่กลับไม่มีฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงกัน ทำให้การจัดเก็บข้อมูลไม่ตรงกัน ไม่สอดคล้องกับสภาพความจริง และอีกมุมหนึ่งคือ ผู้คนมักมองปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเป็น “เรื่องส่วนตัว” ที่คนภายนอกไม่ควรยุ่ง

นั่นจึงทำให้ผู้พบเห็นเหตุการณ์ไม่กล้าเข้าไปช่วยเหลือ หรือแจ้งเหตุ ในทางกลับกัน เหยื่อก็ไม่กล้าเปิดเผยข้อมูล เพื่อขอความช่วยเหลือเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ ผู้เขียนมองว่า นอกจากกลไกของรัฐที่ต้องมีความแข็งแรงทั้งในมุมช่วยเหลือ เยียวยาเหยื่อ และกระบวนการทางกฎหมายในการลงโทษผู้กระทำความผิดแล้ว ในมุมสังคมเองก็ไม่ควรนิ่งดูดาย และเมินเฉย กับปัญหาความรุนแรงในครอบครัว

เพราะหลายครั้ง การเคลื่อนไหวของคนในสังคมสักคน อาจทำให้จุดจบปัญหา ไม่นำไปสู่ “โศกนาฏกรรม” ก็เป็นได้.

อหิงสา