เมื่อวันที่ 13 ก.ย. นายสฤษดิ์ จิณสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด เปิดเผยว่า บริษัท รถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) สายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด ประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น “บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด” (Asia Era One Co., Ltd) เตรียมความพร้อมเดินหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตชาวไทยด้วยทางเลือกใหม่ของการเดินทางด้วยระบบขนส่งทางรางที่ทันสมัย ภายใต้แนวคิด “รีอิเมจินิ่ง ฮอไรซอน (Reimagining Horizons)” เปิดขอบฟ้าใหม่แห่งโอกาส สร้างประสบการณ์การเดินทางที่เหนือกว่าให้แก่ผู้โดยสาร ตลอดจนมุ่งเน้นสร้างคุณค่า และประโยชน์ให้กับประเทศชาติ และประชาชนเป็นสำคัญ

นายสฤษดิ์ กล่าวต่อว่า การเปลี่ยนชื่อองค์กรครั้งนี้ ถือเป็นการตอกย้ำความพร้อมเดินหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินอย่างต่อเนื่องตามแผนที่วางไว้ ซึ่งจะเป็นการพัฒนายกระดับการคมนาคมในประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการเดินทางในภูมิภาคเอเชีย และของโลกด้วยมาตรฐานการเดินรถและให้บริการในระดับสากล สำหรับชื่อบริษัท เอเชีย เอรา วัน มาจากคอนเซปต์ในภาษาอังกฤษ Asia Era One มีความหมายสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของบริษัทในการเป็นศูนย์กลางของเอเชีย ที่เชื่อมผู้คน สังคม และประเทศเป็นหนึ่งเดียว เพื่อประเทศไทยสู่ยุคใหม่แห่งอนาคตของความเจริญรุ่งเรือง ขณะเดียวกันชื่อในภาษาไทย เอเชีย เอรา วัน ยังสื่อความหมายพ้องเสียงกับช้างเอราวัณ พาหนะเทพบุตรของพระอินทร์ ที่มีพละกำลัง และเป็นสัญลักษณ์ของการกระทำดี และสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์อีกด้วย

นายสฤษดิ์ กล่าวอีกว่า บริษัท เอเชีย เอรา วัน มีเป้าหมายในการเป็นศูนย์กลางการเดินทางแห่งเอเชีย ที่จะนำพาประเทศไทยไปสู่ยุคใหม่แห่งโอกาสและความเจริญรุ่งเรือง ในฐานะผู้นำด้านเทคโนโลยีการเดินทางรถไฟความเร็วสูงระดับโลกที่มุ่งมั่นเชื่อมประเทศไทยกับเอเชียให้เป็นหนึ่งเดียวด้วยการสร้างมาตรฐานใหม่เพื่อความภูมิใจของคนไทยทุกคน ทั้งนี้บริษัทฯ ได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลไทยให้พัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูง ในรูปแบบสัญญาการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership : PPP) มีระยะเวลาสัญญา 50 ปี มูลค่ากว่า 224,544 ล้านบาท

นายสฤษดิ์ กล่าวด้วยว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นโครงการเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลักในการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เมื่อโครงการเสร็จสมบูรณ์ คาดว่าจะสร้างรายได้ให้กับประชาชนในท้องถิ่น มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจประมาณ 650,000 ล้านบาท รวมถึงการจ้างงานตลอดช่วงระยะเวลาการก่อสร้างสูงถึง 16,000 อัตรา และการจ้างงานในธุรกิจที่เกี่ยวข้องมากกว่า 100,000 อัตรา ใน 5 ปี.