เมื่อวันที่ 28 ส.ค. ที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ กจ.7 (เขาหุบเต่า) อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี นายสมเจตน์ จันทนา หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน สนธิกำลังจัดชุดเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่า โดยมี เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ทหารหน่วยเฉพาะกิจจงอางศึก ผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้านป่าเด็ง กว่า 20 นาย ออกลาดตระเวนดูแลความปลอดภัย ช้าง-คน ในเส้นทางสายพุไทร-ไทรเอน เส้นทางท่องเที่ยวในพื้นที่ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และภายในพื้นที่หมู่บ้านป่าเด็ง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี หลังได้รับแจ้ง มีโขลงช้างป่า กำลังปีนข้าม พังรั้วป้องกันช้างป่า ออกมาหากินริมถนน และในหมู่บ้าน สร้างความเดือดร้อน เสียหาย
ผู้ใหญ่บ้าน ตัวแทนชาวบ้าน เปิดเผยว่า ความเป็นมาในการสร้างรั้วกันช้างป่า เริ่มจากชาวบ้านร่วมกันทำบุญทอดผ้าป่า นำเงินมาทดลองสร้างรั้วป้องกันช้างป่าได้ผล ก่อนส่งเรื่องไปทางจังหวัด จึงมีการจัดสรรงบประมาณมาช่วยเหลือ แต่ผ่านมาหลายปี รั้วชำรุดเสียหายหลายจุด เรื่องอยู่ในระหว่างของบประมาณมาซ่อมแซมเพิ่ม แต่ปัจจุบันช้างป่าฉลาดขึ้น สามารถปีนข้ามแนวรั้วที่ชำรุดบางจุดเข้ามาในหมู่บ้าน สร้างความเสียหายได้ ทางชาวบ้านอยากได้งบประมาณมาทำถนนเรียบแนวรั้วช้าง เพื่อให้ชุดเฝ้าระวังช้างได้วิ่งออกตรวจและผลักดันช้างกลับเข้าป่า ขอสายไฟแรงต่ำ และติดตั้งสัญญาณเสียงเตือนช้าง เพื่อให้ได้ทราบล่วงหน้าว่าช้างกำลังจะมา ก่อนรวมเครือข่ายออกไปผลักดันกลับเข้าป่า และของบประกันพืชสวนที่เสียหายจากกรณีช้างป่าบุกทำลายพืชสวน ให้ประเมินชดใช้ค่าเสียหายให้ชาวบ้านบ้าง จากที่ปัจจุบันมีแต่ทาง อบต.ป่าเด็ง คอยช่วยเหลือ แต่น้อยมาก จึงอยากให้ทางจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ หรือรัฐบาลชุดใหม่ ได้จัดสรรงบประมาณเข้ามาช่วยเหลือเร่งด่วน
นายสมเจตน์ จันทนา หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กล่าวว่า แนวรั้วป้องกันช้างป่าของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เป็นจุดเรียนรู้ในการป้องกันช้างป่าในระดับประเทศ ที่มีความเข้มแข็งของชุมชน ไม่ปล่อยปัญหาหรือนิ่งเฉยต่อปัญหา พยายามรวบรวมงบประมาณส่วนตัว ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เข้ามาช่วยเหลือในรูปแบบการทอดผ้าป่า สร้างแนวรั้วป้องกันไม่ให้ช้างป่าเข้ามาในพื้นที่หมู่บ้าน ซึ่งเป็นการลองผิดลองถูกมาตั้งแต่เริ่มต้น แนวรั้วช้างจึงอาจจะเตี้ยเกินไป ตาข่ายอาจห่างเกินไป และไม่สมบูรณ์แบบในบางจุด ปัจจุบันชุมชนมีการสำรวจพบว่า แนวรั้วมีการชำรุดหลายจุด ทำให้ช้างเล็ดลอด หรือปีนออกมาได้ หากมีงบประมาณเข้ามาสนับสนุนอย่างจริงจัง ก็จะเสริมสร้างความแข็งแรงของรั้ว ป้องกันช้างได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ได้จัดชุดเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่า โดยมี อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ทหารทัพพญาเสือ และหมู่บ้านเฝ้าระวังช้างป่า รวม 10 หมู่บ้าน ในพื้นที่ ต.ป่างเด็ง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และพื้นที่ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน จ.ประจวบฯ ในการทำงานร่วมกัน ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้น ต้องหาทางแก้ไข ไม่ได้นิ่งเฉย ภาพที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ ช้างปีนรั้วออกไปในหมู่บ้าน ช้างยืนดักรถยนต์กินพืชผลการเกษตรของชาวบ้าน เดินหากินบนถนนเส้นทางท่องเที่ยว ทางเราก็พยายามจัดส่งเจ้าหน้าที่ไปเฝ้าระวัง กวดขัน เพื่อป้องกันช้างป่าเข้มข้นมากยิ่งขึ้น