ศาสตราจารย์ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ภาคประชาสังคม) ในคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่าที่ผ่านมากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ให้การสนับสนุนโครงการประสานงานเครือข่ายเชิงพื้นที่เพื่อพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษา ปี พ.ศ.2563 มีเป้าหมายหลักในการพัฒนาศักยภาพของแกนนำผู้ประสานงานในเครือข่ายพื้นที่ทั้งระดับจังหวัดและภูมิภาคให้มีทักษะที่หลากหลายในการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อช่วยเหลือเด็กนอกระบบแบบองค์รวม ทั้งกาย ใจ สังคม และจิตวิญญาณ โดยมีการดำเนินงานใน 3 ส่วน ได้แก่
1.จัดทำยุทธศาสตร์การทำงานพัฒนาเด็กนอกระบบการศึกษาที่เหมาะสมกับบริบทพื้นที่และกลุ่มเป้าหมาย 2.พัฒนากลไก ภาคี เครือข่ายการทำงานขับเคลื่อนเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา และ 3.จัดทำต้นแบบ/องค์ความรู้รูปแบบการช่วยเหลือเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาผ่านกระบวนการเรียนรู้การทำงานของภาคีเครือข่ายด้านเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษา มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ ที่ครอบคลุมกรอบการดำเนินงานข้างต้น อันได้แก่1.เพื่อประสานงาน ติดตาม ประเมินผล และสนับสนุนทางวิชาการให้กับ 41 ภาคี/เครือข่ายเชิงพื้นที่ของชุดโครงการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษา
2.เพื่อจัดกระบวนการเรียนรู้และถอดบทเรียนการสร้างโอกาสทางการเรียนรู้และการช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาโดย 41 ภาคี/เครือข่ายเชิงพื้นที่
3.เพื่อถอดบทเรียนการดำเนินงานของ 41 ภาคี/เครือข่ายเชิงพื้นที่ให้ได้กลไกการทำงานเด็กนอกระบบในระดับพื้นที่ร่วมกับภาคีความร่วมมือของหน่วยงาน/องค์กรในการดูแลช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมาย รูปแบบการช่วยเหลือเด็กนอกระบบที่สอดคล้องกับปัญหาและสถานการณ์ได้อย่างเป็นรูปธรรมและต้นแบบชีวิตเด็กนอกระบบที่มีความสามารถดำรงชีพในด้านทักษะและการจัดการตนเอง
นางสาวรัตนา ชูแสง ทีมผู้ประสานงานโครงการสนับสนุนการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษาโดยเครือข่ายเชิงพื้นที่ภาคใต้ ให้ข้อมูลว่า ในส่วนของการดำเนินโครงการฯ มีการดำเนินงานใน 6 โครงการ คือ 1.โครงการสนับสนุนการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษาโดยเครือข่ายเชิงพื้นที่ พื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง 8 จังหวัด โดยมูลนิธิชุมชนไท 2.โครงการสนับสนุนการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษาโดยเครือข่ายเชิงพื้นที่ พื้นที่ภาคใต้ตอนกลาง โดยสมาคมอาสาสร้างสุข 3.โครงการ สนับสนุนการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษาโดยเครือข่ายเชิงพื้นที่พื้นที่ภาคใต้ตอนบน โดยสมาคมผู้บริโภคสุราษฎร์ธานี 4.โครงการ สนับสนุนการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษาโดยเครือข่ายเชิงพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง โดย สมาคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (POSBO) 5.โครงการ สนับสนุนการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษาโดยเครือข่ายเชิงพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง โดยมูลนิธิสันติภาพและวัฒนธรรม 6.โครงการสนับสนุนการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษาโดยเครือข่ายเชิงพื้นที่ พื้นที่ภาคใต้ตอนบน โดยสมาคมเพื่อนเยาวชนและพัฒนาสังคมภาคใต้ตอนบน ซึ่งมีพื้นที่เป้าหมายภาคใต้ 15 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกระบี่ ชุมพร นครศรีธรรมราช พังงา ภูเก็ต ระนอง สุราษฎร์ธานี ตรัง สงขลา พัทลุง สตูล ปัตตานี ยะลา นราธิวาส กลุ่มเป้าหมายที่ดำเนินการ ประกอบด้วย เด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาจำนวน 4,737 คน และครูนอกระบบการศึกษาจำนวน 369 คน
นางสาวรัตนา กล่าวเพิ่มเติมว่า จากโครงการฯดังกล่าว สามารถแบ่งประเภทกลุ่มเป้าหมาย จำแนกโดยการแบ่งตามสภาพปัญหา ได้คือ กลุ่มเด็กพิเศษทางร่างกาย/จิตใจ กลุ่มเด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงทางเพศ กลุ่มเด็กชาติพันธุ์ กลุ่มเด็กที่ใช้แรงงาน กลุ่มเด็กท้องไม่พร้อม กลุ่มเด็กครอบครัวแหว่งกลาง กลุ่มคนไทยพลัดถิ่น/เด็กที่มีปัญหาด้านสิทธิสถานะ กลุ่มเด็กเปราะบาง (เด็กแกงค์/เด็กบนท้องถนน/เด็กนอกระบบ) เด็กในกระบวนการยุติธรรม เด็กกำพร้า เด็กที่ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัย เด็กเคลื่อนย้ายตามครอบครัว (internal migration) เด็กในระบบการศึกษาทางเลือก (เช่น ศกร.ตามมาตรา 12) เด็กยากจน เด็กที่ประสบปัญหาเฉพาะอื่นๆ (เกษตรกรรม/ ศิลปวัฒนธรรม)
ซึ่งโครงการฯ สามารถทำให้เด็กนอกระบบมีเป้าหมายในชีวิต เห็นชีวิตตนเองมีคุณค่า วางแผนการใช้ชีวิตของตนเองใหม่ พัฒนาอาชีพ เรียนต่อ ค้นพบความชอบ ความถนัด ทักษะความต้องการของตนเองและพัฒนาต่อไป โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเปราะบางเกิดพื้นที่ความไว้วางใจ ได้รับการช่วยเหลือให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา การบวชเรียน มีทักษะอาชีพสืบต่อตามครอบครัว หรือสร้างอาชีพใหม่ เช่น กลุ่มเด็กชาติพันธุ์นามิ สามารถพัฒนาทักษะชีวิตและคุณภาพชีวิต เพิ่มทักษะทางวัฒนธรรม ความรู้วิชาการ เช่น การคิดเลข และมีทักษะอาชีพ เช่น การเลี้ยงปลาดุก กลุ่มเด็กในสถานพินิจ เกิดพื้นที่ความไว้วางใจ สามารถพัฒนาศักยภาพทักษะชีวิต ได้เรียนรู้ทักษะอาชีพจากการลงมือทำ หรือกลุ่มเด็กปอเนาะ เกิดพื้นที่ความไว้วางใจ พัฒนาศักยภาพทักษะชีวิต ทักษะอาชีพตามความสนใจ
พร้อมทั้งมีกรอบการดำเนินงานเพื่อให้เด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมในสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) การเพิ่มศักยภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้ดูแลเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้มีความรู้ความสามารถในการจัดกระบวนการเรียนรู้ได้อย่างมีคุณภาพ การพัฒนาเครือข่ายการเรียนรู้และระดมความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้และคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา และการพัฒนารูปแบบ/วิธีการที่เป็นนวัตกรรมด้านการช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายนอกระบบการศึกษา นางสาวรัตนา กล่าวทิ้งท้าย