เมื่อวันที่ 18 ส.ค. นายอินทพร จั่นเอี่ยม รองผอ.รักษาราชการแทนผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวถึงกรณีสภาศิลปินส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย มีแถลงการณ์ให้ผู้บริหารโรงแรมไนท์บาร์ซ่า ถนนรัชดาภิเษก ทำการย้ายรูปปั้น ครูกายแก้ว ออกจากพื้นที่ ว่า เรื่องนี้ พศ. ไม่มีอำนาจ เพราะเป็นเรื่องความเชื่อส่วนบุคคล และที่สำคัญรูปปั้นดังดังกล่าวยังไม่มีที่มาที่ไป และไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาด้วย การสร้างรูปปั้นนี้ จึงเป็นความเชื่อส่วนบุคคล เป็นความเชื่อเฉพาะกลุ่มเท่านั้น

เปิดตำนาน ‘ครูกายแก้ว’ บรมครูผู้เรืองเวท มีปีก-ตาแดง-เขี้ยวทอง พร้อมวิธีขอความร่ำรวย!

ด้านพระราชวัชราสารบัณฑิต หรือ “เจ้าคุณประสาร” เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีครูกายแก้ว ว่า ภาพรวมของสังคมไทยเวลานี้ส่วนใหญ่จะใช้ศรัทธาเป็นหลัก จึงมีคำกล่าวในเชิงสนับสนุนว่าไม่เชื่ออย่าลบหลู่ พระพุทธศาสนาจึงสอนว่าหลักของศรัทธานั้นจะต้องประกอบด้วยปัญญาทุกครั้งไป เพราะลำพังศรัทธาอย่างเดียวอาจจะเป็นดาบสองคมได้ บ้านเมืองเรามีวิกฤตในหลายๆ ด้านผู้คนก็ต่างแสวงหาที่พึ่ง แสวงหาความมั่นคงด้านจิตใจหรือแม้กระทั่งการไปบนบานศาลกล่าวเพื่อโชคลาภ เพื่อยศฐาบรรดาศักดิ์ โดยลืมหลักความจริง คือ กรรม หมายถึงการกระทำและผลของการกระทำนั้นๆ ได้แต่เที่ยวแสวงหาโดยไม่ใช้ปัญญาประกบคู่กับศรัทธา และแน่นอนในเรื่องความเชื่อ ความศรัทธานั้น ส่วนตัวของแต่ละคนถ้าไม่ผิดกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีงามก็ยากที่จะไปก้าวล่วงได้ แต่ถ้าเกิดผลในจิตวิทยาหมู่ก็น่าห่วงหลักศรัทธาและเหตุผลของความเชื่อของคนในสังคม

พระราชวัชรสารบัณฑิต กล่าวต่อไปว่า สำหรับคาถาบูชา ครูกายแก้ว ที่มีการเผยแพร่กันที่พบว่า มีการขึ้นต้นด้วยบทนะโม ตัสสะฯ นั้นก็ชัดเจนว่าเป็นบทบูชานอบน้อมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นบทสวดเฉพาะในการกล่าวบูชาพระพุทธองค์ จึงอยากให้สังคมไทยมีสติ มีศรัทธาและประกอบด้วยปัญญา เราอาจจะได้ไม่ถูกชักจูงโดยง่าย ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตที่เป็นผลในปัจจุบันนั้นล้วนเกิดมาจากกรรม คือ การกระทำของเราทั้งสิ้น เราไม่สามารถจะอธิฐานอ้อนวอนเพื่อขอหรือเพื่อจะลบล้างออกได้ ขอให้มีสัมมาทิฏฐิชีวิตเราจะเป็นสุขในการใช้ชีวิตโดยไม่ต้องแสวงหาหรืออ้อนวอนใดๆ