ทำเนียบขาวแสดงท่าทีชัดเจนตั้งแต่ยุคของประธานาธิบดีบารัค โอบามา จนมาถึงผู้นำคนปัจจุบัน คือประธานาธิบดีโจ ไบเดน ว่าต้องการปิดเรือนจำกวนตานาโม ที่ตั้งอยู่บนอ่าวกวนตานาโม ในคิวบา ซึ่งเปิดเมื่อปี 2545 ตามนโยบายของผู้นำคนก่อนหน้า คือประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช แต่จนถึงปัจจุบัน สถานที่แห่งนี้ยังคงเป็นพื้นที่ควบคุมตัวชาย 39 คน ซึ่งไม่เคยถูกฟ้องร้องดำเนินคดี "ตามหลักกฎหมายสากล" และยังไม่มีใครรู้ว่า ชายกลุ่มนี้ ซึ่งถือเป็น "บุคคลอันตรายถึงขีดสุด" จะได้ออกจากสถานที่แห่งนี้เมื่อใด
เข่นเดียวกับการยุติภารกิจทางทหารในอัฟกานิสถานอันยาวนาน 20 ปี ซึ่งท้ายที่สุดแล้วเป็นไปด้วยความโกลาหลวุ่นวาย การปิดเรือนจำกวนตานาโม "อย่างถาวร" เป็นงานซับซ้อนสำหรับไบเดน เพราะยังมีคำถามมากมายที่สหรัฐไม่สามารถตอบได้ว่า รัฐบาลวอชิงตันพร้อมปล่อยตัวกลุ่มคนเหล่านี้หรือไม่? 
ส่วนหนึ่งของผู้ต้องขังภายใน “แคมป์หมายเลข 6” ส่วนหนึ่งของเรือนจำกวนตานาโม เมื่อปี 2562
หนึ่งในผู้ที่ยังคงอยู่ในเรือนจำกวนตานาโม เป็นชายชาวปากีสถาน วัย 74 ปี อายุมากที่สุดในบรรดานักโทษที่ยังเหลืออยู่ แม้อยู่ในสถานะ "ปลอดภัย" สำหรับการปล่อยตัว แต่อีกปัญหาใหญ่คือ นักโทษมีอาการของโรคหัวใจ และยังมีอาการป่วยเรื้อรังอีกหลายโรค ขณะที่นักโทษที่เหลือ "อยู่ในสภาพย่ำแย่ไม่แตกต่างกัน" ทั้งในด้านร่างกายและจิตใจ หลายฝ่ายเรียกร้องว่า หากการปิดเรือนจำแห่งนี้ไม่สามารถเป็นไปได้ตามแผนการ รัฐบาลสหรัฐต้องมีความชัดเจนกว่านี้ ว่าจะมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้แก่กลุ่มคนเหล่านี้อย่างไรด้วย
ทหารสหรัฐควบคุมตัวนักโทษคนหนึ่ง ที่แคมป์ “เอ็กซ์-เรย์” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเรือนจำกวนตาโม เมื่อเดือน ก.พ.2545
นับตั้งแต่การเปิดทำการของเรือนจำกวนตานาโม มีนักโทษเสียชีวิตแล้ว 9 คน แบ่งเป็น "การเสียชีวิตตามธรรมชาติ" 2 คน แต่อีก 7 คนที่เหลือ "เสียชีวิตอย่างผิดธรรมชาติ" ที่ผลการชันสูตรระบุว่า เป็นการกระทำอัตวินิบาตกรรม ทว่าหากมองในอีกมุมหนึ่ง เรื่องนี้ "ไม่เหนือความคาดหมาย" เพราะรัฐบาลวอชิงตันไม่ได้มีแผนการระยะยาวต่อสถานที่แห่งนี้
รัฐบาลบุชให้คำนิยามนักโทษที่เรือนจำกวนตานาโม "ไม่มีอะไรเลวร้ายไปกว่าคนแบบนี้" ซึ่งไม่ใช่เชลยสงคราม แต่เป็น "ศัตรูที่ผิดกฎหมาย" และ "สหรัฐทำในสิ่งที่จำเป็นต้องทำ" แต่เมื่อปรากฏภาพ "ความโหดร้ายทารุณ" ของเจ้าหน้าที่ ซึ่งรวมถึงวิธีสอบปากคำตามแบบของสำนักข่าวกรองกลาง ( ซีไอเอ ) และสภาพความเป็นอยู่ภายในเรือนจำออกมาอย่างต่อเนื่อง กระแสสังคมโลกเริ่มตีกลับ ในที่สุด บุชสั่งปล่อยนักโทษ 532 คน โอบามา 197 คน ส่วนทรัมป์สั่งปล่อยเพียงคนเดียว เป็นชาวซาอุดีอาระเบีย
ทั้งนี้ เคยมีข้อเสนอให้โอนย้ายคดีของนักโทษบางส่วน จากศาลทหารมายังศาลพลเรือน เพื่อให้ง่ายแก่การย้ายตัวหรือปล่อยตัว ขณะที่สภาคองเกรสเพิ่มแรงกดดันให้รัฐบาลเร่งปิดเรือนจำแห่งนี้ ด้วยการตัดงบประมาณสนับสนุน และยกเลิกกฎห้ามย้ายนักโทษกวนตานาโมเข้ามาในเรือนจำของสหรัฐ อย่างไรก็ตาม ทำเนียบขาวยังคงไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้ และยังไม่แน่ชัดด้วยว่า การกดดันของสภาคองเกรสจะกระตุ้นอะไรได้หรือไม่ เมื่อในอีกด้านหนึ่ง กลุ่มตาลีบันประกาศการตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลของอัฟกานิสถาน และรัฐมนตรีหลายคนเคยใช้ชีวิตที่เรือนจำกวนตานาโมมาก่อน.

เครดิตภาพ : AP