นายสินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้ สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ สศท. ปรับเปลี่ยนบทบาท เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคม ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยต้องเร่งพัฒนางานศิลปหัตถกรรมไทยให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทย ให้เป็นที่ยอมรับและเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยใช้แนวคิด ตลาดนำการผลิต  คือพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรม สร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และภูมิปัญญาท้องถิ่น มาประยุกต์ใช้ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยที่มีรูปแบบที่ร่วมสมัย สามารถใช้งานในชีวิตประจำวัน และยังคงคุณค่าอัตลักษณ์และมรดกทางวัฒนธรรมไทยไว้  

“สศท.เองทำหน้าที่ในการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานได้ตรงใจตลาด มีราคาที่เหมาะสม สร้างให้สินค้ามีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในคุณภาพ ส่วนที่เหลือกระทรวงพาณิชย์จะเข้ามาดูแลรับไม้ต่อ ในการหาตลาด ขยายช่องทางการค้าสู่ช่องทางใหม่ๆผ่านพาณิชย์จังหวัดและทูตพาณิชย์ที่จะเป็นกำลังสำคัญที่เป็นสื่อกลางที่จะนำผู้ผลิตงานศิลปหัตถกรรมไทยภายใต้การดำเนินงานของ สศท. ให้มีโอกาสพบกับโอกาสทางการตลาด โดยเฉพาะการเพิ่มศักยภาพด้านการส่งออกงานหัตถศิลป์ไทย ซึ่งนับว่ายังสามารถเปิดตลาดทั้งในสหรัฐอเมริกา และยุโรป ที่มีความต้องการสินค้าประเภทศิลปหัตถกรรมที่มีเอกลักษณ์และสามารถใช้งานในชีวิตประจำวัน อาทิ เครื่องประดับ เฟอร์นิเจอร์ และของใช้ของตกแต่งบ้าน”

ทั้งนี้ ทูตพาณิชย์จะเป็นกลไกสำคัญในการช่วยเหลือสนับสนุน สรรหาความร่วมมือกับเครือข่ายภายนอกประเทศ เป็นพี่เลี้ยงให้ สศท. บริหารจัดการในรายละเอียดเรื่องการส่งออก การเจรจาธุรกิจและอื่นๆ เพื่อขยายตลาดงานศิลปหัตถกรรมให้แพร่หลายและตรงกับรสนิยมการบริโภคในแต่ละภูมิภาคของโลก เพื่อยกระดับรายได้และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

นายสินิตย์ กล่าวว่า สำหรับเรื่องการพัฒนาศักยภาพทางการตลาดให้กับภาคการผลิตฐานรากก็เป็นสิ่งที่ สศท. ต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้เกิดการประกอบอาชีพและทำมาค้าขายในงานศิลปหัตถกรรมไทย ทั้งในกลุ่มชาวบ้านผู้ผลิตศิลปหัตถกรรมในชุมชน และคนรุ่นใหม่ โดยจะต้องพัฒนาให้เป็นผู้ประกอบการ ที่มีศักยภาพในกลุ่มเอสเอ็มอี พัฒนาไปสู่กลุ่มสตาร์ทอัพนอกจากนี้ ยังต้องเชื่อมโยงงานศิลปหัตถกรรมไปยังผู้คนทั่วโลกมากขึ้น ส่งเสริมการซื้อขายผ่านระบบออนไลน์โดยได้มอบแนวทางให้ สศท. พัฒนาแพลตฟอร์มการค้าสำหรับงานศิลปหัตถกรรมโดยเฉพาะ เพื่อเป็นการเชื่อมต่องานศิลปหัตถกรรมไทยสู่ตลาดโลก ผ่านแพลตฟอร์ม “Thai Crafts Online : ไทยคราฟต์ออนไลน์” รองรับแผนอีคอมเมิร์ซแห่งชาติในอนาคต