โอกาสนี้ “เทพรัตน์ เทพพิทักษ์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป ซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่รายแรกของประเทศไทย ได้ให้สัมภาษณ์ “Green Together” ถึงทิศทางการสร้างความสมดุลการผลิตไฟฟ้า ของเชื้อเพลิงแต่ละประเภท ให้สอดรับกับทิศทางพลังงานสีเขียวของโลก ขณะเดียวกันต้องบริหารต้นทุนการผลิตไฟฟ้า ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าทั้งภาคประชาชน และภาคเอกชน

“เทพรัตน์” ฉายภาพให้เห็นภาพ เอ็กโก กรุ๊ปว่า เราเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงหลากหลายประเภท เช่น ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน ชีวมวล พลังงานนํ้า พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานความร้อนใต้พิภพ เน้นลงทุนในธุรกิจไฟฟ้า ทั้งในและต่างประเทศ มีโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว 31 แห่ง ตั้งอยู่ใน 8 ประเทศ คือ ไทย สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา สัดส่วนโรงไฟฟ้าในประเทศ 49% ขณะที่โรงไฟฟ้าต่างประเทศคิดเป็น 51%

ลดคาร์บอนเรื่องท้าทาย

ปัจจุบันความต้องการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น แต่ก็ต้องลดคาร์บอนไดออกไซด์ลงด้วยเป็นเรื่องท้าทายมาก ซึ่งพลังงานหมุนเวียนที่ใช้อยู่ส่วนใหญ่มาจากสายลม แสงแดด ยังเป็นพลังงานที่ไม่แน่นอน ยังไม่สามารถเป็นพลังงานหลักได้ รวมทั้งยังมีต้นทุนแพงอยู่ เวลาบริหารความมั่นคงด้านไฟฟ้า ต้องสร้างสมดุลระหว่างผู้ผลิต และผู้ใช้ตลอดเวลา ทำให้ความจำเป็นลงทุนพลังงานดั้งเดิมยังต้องมีอยู่ แต่จะทำอย่างไรให้เป็นพลังงานสีเขียวมากที่สุด

แปลงโรงถ่านสีเขียว

“บอร์ดเอ็กโก้ ระบุมาแล้วว่า ต่อไปจะไม่ซื้อโรงไฟฟ้าถ่านหินเข้ามาเพิ่ม แต่ตอนนี้เรายังมีโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินชั้นดี จากแหล่งผลิตในประเทศออสเตรเลียและอินโดนีเซียที่ยังต้องผลิตอยู่ โรงไฟฟ้าแห่งนี้มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้า ที่ต้นทุนตํ่าที่สุดในประเทศขายเข้าระบบไม่ถึงหน่วยละ 2 บาท ช่วยพยุงราคาค่าไฟกันทุกวันนี้ เราจึงกำลังศึกษาอยู่ว่า ถ้าเราใช้เทคโนโลยี ทำโรงไฟฟ้าถ่านหินให้เขียวขึ้นได้ อย่างน้อยถ้าแก๊สยังเดินหน้าได้ ถ่านหินก็ต้องอยู่ได้ แต่การศึกษาก็ต้องดูด้วยว่า ถ้าทำให้เขียวขึ้นแล้ว ในแง่เศรษฐกิจคุ้มค่าหรือไม่ ไม่ใช่ว่า เขียวขึ้นแต่ต้นทุนแพงแบบนี้จะไม่คุ้มค่า คาดว่า จะได้ข้อสรุปเร็ว ๆ นี้ เพื่อมาเปรียบเทียบต้นทุนต่อไป”

สำหรับการเดินหน้าเข้าสู่สังคมคาร์บอนตํ่า ได้ประกาศขับเคลื่อนองค์กรภายใต้แนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน “Cleaner, Smarter, and Stronger to Drive Sustainable Growth” ช่วงแรกปี 64 ได้ประกาศเป้าหมายสู่สังคมคาร์บอนตํ่า 2 ระยะ กลาง และยาว แต่ล่าสุดปี 66 เราได้เห็นถึงศักยภาพของเทคโนโลยีพลังงานสะอาดและพลังงานทางเลือกใหม่ ๆ ที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว ทำให้การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมพลังงานสู่สังคมคาร์บอนตํ่ามีความเป็นไปได้มากขึ้น และมีแนวโน้มรวดเร็วมากขึ้น เราจึงทบทวนและประกาศเป้าหมายใหม่ที่ท้าทาย ในส่วนของความเป็นกลางทางคาร์บอน จากเดิมปี 93 เร็วขึ้นอีก 10 ปี เป็นปี 83

ปรับเป้าใหม่เร็วขึ้น

เป้าหมายใหม่แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ เป้าหมายระยะสั้น ลดการปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ ลง 10% และเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 30% ภายในปี 2030 (2573) เป้าหมายระยะกลาง บรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2040 (2583) เป้าหมายระยะยาว ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2050 (2593)

หนึ่งในความสำเร็จการใช้พลังงานทางเลือกที่สำคัญ คือ ส่งเสริมใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า เนื่องจากชื่อมั่นว่า เชื้อเพลิงไฮโดรเจนจะเป็นพลังงานทางเลือกที่สำคัญและมีศักยภาพรองรับการเปลี่ยนผ่านจากพลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานสีเขียว รวมถึงมุ่งมั่นผลักดันการใช้เชื้อเพลิงต่าง ๆ ที่สะอาดขึ้นและพัฒนาเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าที่ทันสมัยต่อเนื่อง เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พร้อมทั้งร่วมมือกับพันธมิตรศึกษาเทคโนโลยีและแสวงหาโอกาสลงทุนในซัพพลายเชนไฮโดรเจน ตั้งแต่การผลิต การขนส่ง และประยุกต์ใช้งาน โดยเฉพาะซาอุดิอาระเบียและออสเตรเลียที่มีศักยภาพสูง

รุกพลังงานไฮโดรเจน

สำหรับการพัฒนาการลงทุนด้านไฮโดรเจนของเอ็กโก กรุ๊ป นำไฮโดรเจนมาเป็นเชื้อเพลิงผสมในโรงไฟฟ้า เริ่มจากปี 63 โรงไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง “กังดง” ประเทศเกาหลีใต้ ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 19.8 เมกะวัตต์ ซึ่งเอ็กโก กรุ๊ป ถือหุ้น 49% เริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์และจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ

เพิ่มธุรกิจขายโรงไฟฟ้า 

ปี 64 ซื้อหุ้นในสัดส่วน 17.46% ใน “บริษัท เอเพ็กซ์ คลีน เอ็นเนอร์ยี โฮลดิ้ง ผู้พัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ที่มีโมเดลธุรกิจแบบไฮบริด คือ พัฒนาโครงการเพื่อเดินเครื่องเชิงพาณิชย์เอง  2 ใน 3 ส่วนช่วยส่งเสริมพอร์ตโฟลิโอพลังงานหมุนเวียนของเอ็กโก กรุ๊ป ในระยะยาว และจำหน่ายโครงการออกไป 1 ใน 3 ส่วน ทำให้แนวทางการดำเนินธุรกิจของเอ็กโก กรุ๊ป เปลี่ยนจากการผลิตไฟฟ้า ขายไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว เป็นการผลิตโรงไฟฟ้า ขายโรงไฟฟ้าเพิ่มอีกด้วย

ปี 66 ประสบความสำเร็จในการปรับปรุงโรงไฟฟ้าที่ใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงผสม ลินเดน โคเจน หน่วยที่ 6 กำลังผลิต 172 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่เมืองลินเดน รัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐฯ ปรับปรุงเครื่องกังหันก๊าซให้สามารถรองรับก๊าซที่เกิดจากกระบวนการผลิตของโรงกลั่นนํ้ามันเบย์เวย์ ของบริษัท ฟิลิปส์ 66 ที่มีไฮโดรเจนเป็นองค์ประกอบ มาใช้เป็นเชื้อเพลิงผสมกับก๊าซธรรมชาติได้

นอกจากนี้ยังร่วมมือด้านไฮโดรเจนระหว่างเอ็กโก กรุ๊ป และพันธมิตรต่าง ๆ อีก เช่น ศึกษาความเป็นไปได้และพัฒนาโครงการ ลงนามเป็นพันธมิตรกับ บริษัท บูม เอ็นเนอยี คอร์ปอเรชั่น ในสหรัฐอเมริกา พัฒนาการใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า

 “เอ็กโก กรุ๊ป พร้อมนำผลการศึกษาต่าง ๆ รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีพลังงานสะอาดมาประยุกต์ใช้ ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเพื่อความมั่งคงทางด้านพลังงานของประเทศด้วย” นายเทพรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย.