กรณีนายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า จะเข้าไปร้องที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประเด็น ตามที่ ครม. เห็นชอบให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ดำเนินโครงการตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินแห่งชาติ หรือศูนย์ฯ 191 ซึ่งใช้เงินนอกงบประมาณมหาศาล นอกจากนี้ยังมีในส่วนของงบกว่า 7 พันล้านจาก กสทช. ที่นำมาให้ สตช. จัดตั้งศูนย์ฯ ขณะที่การดำเนินโครงการพบว่า มีการดำเนินการที่กลับไปกลับมา มีการเขียนแก้ไขทีโออาร์เอื้อให้กับเอกชน เป็นโครงการที่มีการล็อกสเปก และเตรียมจัดหาบริษัทผู้ที่จะชนะประมูลงานไว้แล้ว จนล้มประมูลไปแล้วถึง 2 ครั้ง นอกจากนี้ยังพบความเชื่อมโยงของบริษัทเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่มีความเชื่อมโยงกับบิ๊กๆ ของ สตช. และ ครม. อีกด้วย ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

สตช.รอเลย! พี่ศรีฯ บุกร้องโครงการจัดตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุฯ งบ 7 พันล้านส่อพิรุธ

ความคืบหน้า เมื่อวันที่ 17 ก.ค. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) นายยศวริศ ชูกล่อม หรือ เจ๋ง ดอกจิก ตัวแทนกลุ่มใจรักชาติ พร้อมด้วยนายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน นำเอกสารหลักฐาน TOR หรือ เอกสารที่กำหนดขอบเขตและรายละเอียดโครงการจัดตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินแห่งชาติ หรือศูนย์ 191 ที่หลุดออกมาให้บริษัทแห่งหนึ่งที่ร่วมประมูลงาน และข้อสงสัยในเรื่องที่ปรึกษาโครงการฯ ที่มีการแก้ TOR จากระบบเดิม ให้สามารถทำซอฟต์แวร์ในประเทศ ให้ตรงกับคุณสมบัติบริษัทที่คาดว่าจะมีการล็อกสเปกให้ ซึ่งมองว่าซอฟต์แวร์ที่ทำขึ้นเองในประเทศไม่ได้มาตรฐานเพียงพอที่จะสามารถใช้งานจริงได้ เพื่อยื่นเรื่องร้องเรียนกับ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) โดยมี พ.ต.อ.เรวัต หัสเสนะ รอง ผบก.สส. ในฐานะเวรอำนวยการรับเรื่อง

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า สำหรับโครงการนี้จัดขึ้นเพื่อกรณีประชาชนมีเหตุฉุกเฉิน จะสามารถรายงาน และส่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปช่วยเหลือระงับเหตุได้ทัน ซึ่งระบบของโครงการจะต้องตั้งอยู่ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยมีระบบซอฟต์แวร์ และบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถประจำการที่ศูนย์ มีงบประมาณกว่า 7,095 ล้านบาท ที่ได้รับการสนับสนุนมาจาก กสทช. เมื่อ 25 ธ.ค. 61 ก่อนส่งต่อให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการโครงการนี้ โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาจัดทำ TOR งบ 122 ล้านบาท หลังจากนั้นก็พบพิรุธว่า บริษัทที่ปรึกษา มีความพยายามวิ่งเต้นล็อกสเปก TOR ในบริษัทแห่งหนึ่ง ทำให้มีการเปิดประมูลงาน 2 รอบ ไม่ผ่าน เพราะบริษัทที่ล็อกสเปก ผลการตรวจสอบซอฟต์แวร์ไม่ได้มาตรฐาน

ทั้งนี้ปัจจุบันมีการแบ่งโครงการศูนย์ 191 เป็น 3 โครงการเพื่อให้ง่ายต่อการประมูล ซึ่งมีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ เข้าไปเกี่ยวข้องหลายนาย รวมทั้งยังพบว่ามีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่ดำรงตำแหน่งปัจจุบัน ผลักดันโครงการนี้อยู่ จึงนำเรื่องมาร้องเรียนให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติตรวจสอบ

นายศรีสุวรรณ กล่าวอีกว่า เมื่อมีการเขียนซอฟต์แวร์เองภายในประเทศ ทำให้มีเงินทอนเป็นพันล้าน ถึงแม้เป็นเงินสนับสนุน กสทช. แต่ก็ยังถือว่าเป็นภาษีประชาชน ส่วนตัวอยากให้โครงการนี้ดำเนินต่อให้เสร็จอย่างรวดเร็ว เพราะมีประโยชน์ต่อประชาชนจำนวนมากแต่ก็ยังอยากให้ระบบมีประสิทธิภาพด้วย

นายยศวริศ กล่าวว่า ส่วนตัวเชื่อว่าโครงการนี้มีความพยายามที่จะวิ่งเต้นกับนักการเมืองใหญ่ อักษรย่อ ป. เพื่อให้บริษัท นายบอย สามารถประมูลโครงการนี้ โดยการล็อกสเปก TOR และพบว่า บริษัทที่ปรึกษาที่จะทำ TOR มีพนักงานทำงานจริงเพียง 6 คน แต่กลับเบิกจ่ายเงินเดือนที่ปรึกษาเต็มจำนวน 122 ล้านบาท

สำหรับโครงการนี้ ทางกรมบัญชีกลางมีการประกาศผ่านเว็บไซต์เปิดให้ร่วมประมูลโครงการตั้งแต่วันที่ 10 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยจะมีการประมูลจริงในวันที่ 10 ส.ค. นี้ แต่ก็ยังพบมีเอกสาร TOR หลุดให้กับบริษัทเดิม นอกจากนี้ยังพบพิรุธว่าบริษัทที่ถูกล็อกสเปก พบว่ามีประวัติ เคยประมูลงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติกว่า 40,000 ล้านบาท เช่น เครื่องเอกซเรย์ยาเสพติด วิทยุตำรวจ แต่ที่ผ่านมาก็ไม่สามารถใช้งานได้จริง เพราะไม่มีคุณภาพ