จากรณี สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา โพสต์ทวิตเตอร์ส่วนตัว ถึงฝ่ายค้านที่พยายามเคลื่อนไหวทางการเมืองในฝั่งไทย โดยระบุว่า “…การที่ พิธา ไม่ได้รับคะแนนเสียงมากพอที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ถือเป็นความล้มเหลวครั้งใหญ่ของฝ่ายค้านหัวรุนแรงในกัมพูชา…” ช่วงค่ำวันที่ 13 ก.ค. 66 ที่ผ่านมา ทำเอาขั้วการเมืองฝั่งประชาธิปไตย แห่กันเข้าไปโพสต์โจมตี สมเด็จฮุน เซน กันอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่มองว่าไม่ควรแสดงความเห็นลักษณะดังกล่าว โดยเฉพาะการพาดพิงเรื่อง “นายพิธา” แพ้โหวตนายกฯ หรือไปเป็นพรรคพวกของใคร

“ฮุนเซน”ทวีตเย้ยฝ่ายค้านหลัง “พิธา”แพ้โหวตนายกฯ ดับฝันหวังใช้แผ่นดินไทยสู้รัฐบาลเขมร

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 14 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเช้าที่ผ่านมา สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้ยอมลบโพสต์ทวิตเตอร์เยาะเย้ยฝ่ายค้านของกัมพูชาแล้ว พร้อมกับอธิบายต่อไปว่า เพื่อไม่ให้เกิดการนำข้อมูลไปขยายในทิศทางที่จะเทำให้คนไทยบางกลุ่มเข้าใจผิด “เมื่อคืนตนโพสต์ข้อความว่า พิธา ไม่ได้รับเลือกเป็นนายกฯ ไทย แสดงถึงความล้มเหลวของฝ่ายค้านสุดโต่งในกัมพูชา เพราะคนกลุ่มนี้ใช้ชื่อนายพิธาและพรรคการเมือง ไปใช้ในการหาเสียงในประเทศกัมพูชา ทำนองว่า หลังจาก นายพิธา เข้ารับตำแหน่งนายกฯ จะมีผู้นำกลุ่มหัวรุนแรงจะเข้าสู่ประเทศกัมพูชาผ่านดินแดนไทย กลุ่มหัวรุนแรงนี้ใช้ชื่อ นายพิธา มาเกือบสองเดือนแล้ว นับตั้งแต่ นายพิธา ชนะการเลือกตั้งในประเทศไทย

สมเด็จฮุน เซน ยังระบุด้วยว่า ตนไม่ได้ก้าวก่ายกิจการภายในของประเทศไทย เพียงแต่ส่งสัญญาณเตือนไปยังกลุ่มหัวรุนแรงในกัมพูชาเท่านั้น ว่าความปรารถนาของพวกเขาละลายเหมือนเกลือในน้ำ แต่กลับปรากฏว่า มีคนไทยเข้ามาแสดงความเห็นเป็นภาษาไทยจำนวนมาก ซึ่งตนไม่เข้าใจ และขออธิบายว่า 1. ข้าพเจ้าไม่ได้ต่อต้านนายพิธา พร้อมทำงานหากเขาได้เป็นนายกฯ 2. ข้าพเจ้าเคารพในการตัดสินใจของประชาชนชาวไทย และและไม่ก้าวก่ายกิจการภายในของประเทศไทย 3. ข้าพเจ้าพร้อมทำงานร่วมกับผู้นำประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นใคร หรือ พรรคการเมืองฝ่ายไหน 4. กลุ่มเขมรหัวรุนแรงใช้ดินแดนไทยทำกิจกรรมต่อต้านกัมพูชา รวมทั้งใช้ชื่อ นายพิธา เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง ควรหยุดการกระทำดังกล่าว

ทั้งนี้ ประวัติการเมืองในกัมพูชา มีการต่อสู้รบกันมายาวนาน หลังจากตนได้เข้ามาบริหารประเทศ ทำให้สงครามยุติลง คนไทย-กัมพูชา อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ด้วยนโยบายเอาสันติภาพเป็นหลักก่อนประขาธิปไตย แต่กลับมีการแอบอ้างของกลุ่มการเมืองบางกลุ่มในกัมพูชาที่อยู่ต่างประเทศ ไปแสดงความเห็นต่อต้านรัฐบาลกัมพูชา โดยอาศัยชื่อ นายพิธาและพรรคก้าวไกล เพื่อหวังผลทางการเมืองในประเทศกัมพูชา จึงเป็นที่มาของการทวีตข้อความดังกล่าว

อย่างไรก็ตามหลังจาก สมเด็จฮุน เซน ได้โพสต์ข้อความชี้แจงเรื่องราวทั้งหมดแล้ว ปรากฏว่า ยังมีทวิตเตอร์ของ “ด้อมส้ม” ฝ่ายประชาธิปไตยหลายคน เข้าไปโพสต์โจมตีความเห็นดังกล่าวอย่างดุเดือด ส่วนใหญ่ระบุว่า ไม่อยากให้ สมเด็จฮุน เซน มาโพสต์เรื่องกลุ่มการเมืองในประเทศตัวเอง ข้องเกี่ยวกับกลุ่มการเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนก็ตาม.