เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 8 ก.ค. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าในการเจรจากับ ส.ว. เพื่อโหวตให้กับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล ในการประชุมร่วมรัฐสภา วันที่ 13 ก.ค. นี้ว่า ขณะนี้มีการเตรียมการ 2 ส่วน คือ 1. การเตรียมการในเรื่องการลงมติโหวตนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 13 ก.ค. นี้ เราก็พยายามสื่อสารกับประชาชน และ ส.ว. เป็นวงกว้างให้มากที่สุด ซึ่งยังยืนยันหลักการเดิมว่า เราคาดหวังให้ ส.ว. ลงมติให้กับนายพิธา ไม่ใช่ว่าต้องชอบนายพิธา หรือชอบพรรคก้าวไกลเป็นการส่วนตัว แต่ในฐานะของแคนดิเดตของพรรคการเมืองที่มี ส.ส. มากที่สุด และรวบรวมเสียงได้เกินกึ่งหนึ่งของ ส.ส. ตามครรลองประชาธิปไตย และเชื่อว่าจะมี ส.ว. จำนวนเพียงพอที่จะลงมติตามหลักการนั้น 2.หากนายพิธา ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี และมีการจัดตั้งรัฐบาลกับ 8 พรรคร่วม ตามเอ็มโอยูที่ได้ทำร่วมกัน ซึ่งโจทย์ที่สำคัญกว่าคือการเตรียมความพร้อมการบริหารประเทศ ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่เราได้สัญญากับประชาชนไว้ก่อนการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นผังกลไกในฝ่ายบริหาร และตั้งคณะทำงาน เพื่อผสมผสานนโยบายของทั้ง 8 พรรค ขับเคลื่อนการทำงานของฝ่ายบริหาร รวมถึงฝ่ายนิติบัญญัติที่ทางพรรคก้าวไกล ได้เตรียมชุดกฎหมายที่เราได้สื่อสารกับประชาชนก่อนการเลือกตั้ง เพื่อยื่นเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร

ผู้สื่อข่าวถามว่า จากกรณีที่ ส.ว. บางส่วนกลับลำไม่โหวตให้กับพรรคก้าวไกล ตรงนี้ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร นายพริษฐ์ กล่าวว่า จะมี จำนวน ส.ว. เท่าไหร่เดี๋ยวก็รู้ในวันที่ 13 ก.ค. นี้ ตนไม่อยากให้สังคมตื่นตระหนกต่อความเห็นของ ส.ว. บางคนมากเกินไปด้วย 2 เหตุผล คือ 1. มี ส.ว. ที่ออกมาแสดงความเห็นหลากหลายมาก ทั้งที่สนับสนุน ไม่สนับสนุน และสงวนท่าที แต่เมื่อรวบรวมจำนวน ส.ว. ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นทั้งหมด ก็ถือว่าเป็นส่วนน้อยมาก คงไม่สามารถคาดการณ์ตัวเลขจากความเห็นของคนไม่กี่คนได้ 2.การที่ขอให้ ส.ว. มาโหวตให้กับนายพิธา ไม่ได้อยู่ในฐาน คิดว่า ส.ว. ต้องเห็นชอบนโยบายของพรรคก้าวไกล หรือคิดว่าพรรคก้าวไกล ตอบโจทย์ของประเทศมากที่สุด เราเพียงขอแค่ว่าให้โหวตตามหลักการประชาธิปไตย คือหากแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี รวบรวมเสียง ส.ส. ได้เกินกึ่งหนึ่ง ก็ต้องให้ความเห็นชอบตามนั้น เราขอแค่ให้มี ส.ว. เพียงพอที่เคารพหลักการแต่นั้นพอ

เมื่อถามถึงการประชุม พูดคุยกับ 8 พรรคร่วมในวันที่ 11 ก.ค. นี้ จะมีการพูดคุยอะไรบ้าง นายพริษฐ์ กล่าวว่า เป็นการประชุมตามสัปดาห์ตามปกติ เพราเมื่อสภาเปิดสมัยประชุมก็ต้องมีการประสานงานกัน ส่วนเรื่องการโหวตนายพิธา ก็เป็นสิ่งที่เราได้ข้อตกลงกันตั้งแต่วันที่มีการเซ็นเอ็มโอยูฉบับแรก ก็คงไม่ได้มีอะไรที่ซับซ้อน 

เมื่อถามว่า หากการโหวตครั้งแรก และครั้งที่ 2 นายพิธา ยังไม่ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี จะต้องมีการเปลี่ยนตัวเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีหรือไม่ นายพริษฐ์ กล่าวว่า โดยหลักการตามประชาธิปไตย ครั้งเดียวก็ควรจบ ยิ่งเป็นแคนดิเดตจากพรรคการเมืองที่ได้สิทธิจัดตั้งรัฐบาลก่อน และรวบรวมเสียง ส.ส. ได้เกินกึ่งหนึ่ง เป็นไปตามเจตจำนงของประชาชน ที่สะท้อนผ่านการเลือกตั้ง ก็จะมีรัฐบาลที่มีเสียง ส.ส. ประมาณ 312 เสียง และฝ่ายค้าน 188 เสียง ซึ่งทั้งสองฝ่ายก็ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ผ่านไป 4 ปี ประชาชนก็จะตัดสินผลงานผ่านการเลือกตั้งอีกครั้ง เมื่อถามย้ำว่า หากรวบรวมเสียงได้ไม่ถึง 376 เสียง จะทำอย่างไร นายพริษฐ์ กล่าวว่า อย่าเพิ่งคาดการณ์ไปถึงตรงนั้น เรายังมี่ความเชื่อมั่นและคาดหวังว่า ส.ว. จะมีเยอะเพียงพอ ที่เคารพเสียงข้างมากของ ส.ส.

เมื่อถามว่า ถ้าโหวตนายกรัฐมนตรีไม่ได้หลายครั้ง ควรเปลี่ยนรายชื่อหรือไม่นั้น นายพริษฐ์ กล่าวย้ำว่า เราอย่าเพิ่งไปคาดการณ์อนาคต เพราะเชื่อมั่นและคาดหวังว่าโหวตครั้งเดียวจะจบ เพราะในมุมของพรรคก้าวไกล ให้ความชัดเจนมากใน 2 ส่วน คือ 1.เรื่องจำนวนเสียงซึ่งมี 312 เสียง ถือว่าเกินกึ่งหนึ่งของ ส.ส. ไปพอสมควร และ 2.ความชัดเจนในเรื่องของรัฐบาล 8 พรรคที่จะร่วมขับเคลื่อนด้วยกัน อย่างน้อยก็มีการระบุอยู่ใน MOU ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเราจะจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพและเอกภาพได้ และคาดหวังว่า ส.ว. จะโหวตตามเสียงข้างมากของ ส.ส.

เมื่อถามว่า เป็นห่วงหรือไม่ว่าเสียงโหวตไม่เป็นที่พอใจของประชาชนแล้วจะเกิดการชุมนุมทางการเมืองในอนาคต นายพริษฐ์ กล่าวว่า ก็เป็นสิทธิของประชาชน เพราะไม่ใช่ประชาชนเลือกพรรคก้าวไกลเพียงอย่างเดียว แต่ประชาชนเลือก 7 พรรคร่วม และพรรคการเมืองที่ไม่ได้อยู่ในนี้ด้วย และอาจมีสถานะเป็นฝ่ายค้าน ก็คาดหวังว่าเมื่อเขาได้ออกไปแสดงความเห็น 1 สิทธิ 1 เสียง แล้ว การบริหารจัดตั้งรัฐบาล และบริหารงานก็เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย เคารพ 1 สิทธิ 1 เสียงของประชาชน ฉะนั้นหากการโหวตนายกรัฐมนตรีไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ที่เคารพ 1 สิทธิ 1 เสียงของประชาชน ตนคิดว่าความไม่พอใจคงไม่จำกัดอยู่ที่พรรคก้าวไกล แต่จะเป็นประชาชนที่สนับสนุนหลักการประชาธิปไตยทั้งหมด

เมื่อถามว่า มีสัญญาณดีจากพรรคอื่นที่จะโหวตให้โดยไม่มีเงื่อนไขร่วมรัฐบาลหรือไม่ นายพริษฐ์ กล่าวว่า ถ้าเราอยู่ในระบบรัฐสภาที่เป็นปกติ ก็ไม่ได้คาดหวังว่าฝ่ายค้านจะมายกมือให้ซีกรัฐบาล แต่เมื่อเราอยู่ในระบบที่ไม่ได้เป็นไปตามกลไกปกติ เราก็จะขอบคุณอย่างยิ่ง ถ้ามี ส.ส. ที่ไม่ได้อยู่ใน 8 พรรค และมีสถานะเป็นฝ่ายค้านมายกมือให้นายพิธาในรอบนี้เป็นพิเศษ เพื่อยืนยันหลักการ 1 สิทธิ 1 เสียงในการเลือกตั้ง เมื่อถามว่า ขณะนี้พรรคก้าวไกลยังมั่นใจในเสียง ส.ว. พลังเงียบอยู่ใช่หรือไม่ นายพริษฐ์ ระบุว่า เราคาดหวังว่าจะมีเสียง ส.ว. เยอะเพียงพอที่สนับสนุนหลักการนายกรัฐมนตรีตามเสียงข้างมากของ ส.ส. ส่วนตัวเลขจะเป็นอย่างไร วันที่ 13 ก.ค. ก็รู้กัน พร้อมย้ำว่า เราก็ยังเชื่อมั่นว่า ส.ว. จะอยากเห็นประเทศเดินหน้าตามเจตจำนงของประชาชนที่แสดงออกมาผ่านการเลือกตั้ง ซึ่งจะมีเพียงพอ

ส่วนกรณีที่ปลายสัปดาห์นี้ นายพิธาจะเดินสายลงพื้นที่ถือ เป็นเรื่องปกติของคนที่ประสงค์จะเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนกับประชาชนในวงกว้างที่สุด ซึ่งถือว่าเป็นการเตรียมพร้อมในการเดินหน้าบริหารประเทศ

เมื่อถามย้ำว่า พรรคก้าวไกลจะยอมลดเงื่อนไขบางอย่างเพื่อให้ ส.ว. โหวตสนับสนุนหรือไม่ นายพริษฐ์ กล่าวย้ำว่า ไม่มีการลดวาระที่เราจะขับเคลื่อน เพราะเราถือว่า สิ่งที่เราต้องการจะเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลง พิจารณาจากปัญหาประเทศที่เป็นอยู่ และเชื่อว่าจะตอบโจทย์ประเทศในอนาคตได้ดีที่สุด ซึ่งเราก็สื่อสารนโยบายก่อนการเลือกตั้ง และเมื่อประชาชนให้ความไว้วางใจกับเราในวาระที่เสนอไป มันก็เป็นความรับผิดชอบและหน้าที่ที่ต้องขับเคลื่อนวาระที่เสนอกับประชาชนไปแล้ว พร้อมหวังว่า ส.ว. ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับนโยบายของพรรคก้าวไกล ก็อยากเห็นนักการเมืองที่รักษาคำพูดของตัวเอง ฉะนั้นหวังว่า ส.ว. จะไม่ใช้อำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีที่ตนเองมี จากมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ มาเป็นเงื่อนไขพยายามให้เราเปลี่ยนวาระจากที่เราได้สื่อสารกับประชาชน พร้อมย้ำยังหวังว่า ส.ว. จะอยากเห็นนักการเมืองและพรรคการเมืองที่รักษาคำพูดของตัวเอง