กรณีเจ้าหน้าที่ศุลกากรอรัญประเทศ จ.สระแก้ว เข้าจับกุมรถบรรทุกทุเรียน 8 กว่าตัน ที่บริเวณถนน 317 (สระแก้ว-จันทบุรี) ช่วงบริเวณด้านหน้าโรงพยาบาลวังสมบูรณ์ ต.วังสมบูรณ์ อ.วังสมบูรณ์ จ.สระแก้ว โดยในรถบรรทุก 6 ล้อ ตรวจพบทุเรียนสด ซึ่งเจ้าหน้าที่ระบุว่า มีถิ่นกำเนิดในต่างประเทศ และไม่มีเอกสารหลักฐานแสดงการผ่านพิธีการศุลกากร จึงตรวจยึดทุเรียน จำนวน 8,420 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 1,178,800 บาท ไว้ตามความผิดตามมาตรา 242 และ 246 ประกอบมาตรา 252 และอาศัยอำนาจตามมาตรา 166 และ 167 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ยึดของทั้งหมดไว้ พร้อมนำตัวผู้ต้องหาและยานพาหนะที่ใช้ในการกระทำความผิด ส่งด่านศุลกากรอรัญประเทศ เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งหลังจากนั้นมีการนำทุเรียนไปจำหน่ายจ่ายแจกให้กับหน่วยงานราชการต่าง ๆ หน่วยละ 50 ลูก ในราคา 7,500 บาท จนเกือบหมดในช่วงเย็นวานที่ผ่านมา

เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าว่า เจ้าของทุเรียนดังกล่าว ได้เดินทางไปดูสินค้าที่ศุลกากรอรัญประเทศ ซึ่งพบว่าทุเรียนถูกขายออกไปจนเกือบหมด โดยมีหน่วยงานต่างๆ ทยอยกันเข้ามาขนอย่างต่อเนื่อง อาทิ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่มารับซื้อไปเป็นหน่วยสุดท้าย เป็นต้น

ต่อมา น.ส.อภิชญา ทองหล่อ อายุ 42 ปี เดินทางเข้าพบกับ พ.ต.ต.กิตติพัศ ขจรพงศ์ชัยกุล สว.(สอบสวน) สภ.อรัญประเทศ แจ้งว่า เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. เวลา 15.00 น. ผู้แจ้งได้ถูกเจ้าหน้าที่ศุลกากรอรัญประเทศรวม 8 คน ทำการจับกุมตัว โดยกล่าวหาว่า ได้กระทำความผิดฐาน “ซื้อหรือรับไว้ด้วยประการใด ซึ่งของอันตนพึงรู้ว่าเป็นของอันเนื่องด้วยความผิดตาม มาตรา 242 อันเป็นความผิดตาม มาตรา 246 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560” พร้อมได้ถูกตรวจยึดของกลางเป็นทุเรียน จำนวน 8 ตัน รวมมูลค่า 1,178,800 บาทไป

ต่อมาผู้แจ้งยินยอมทำการระงับคดีในชั้นศุลกากร และผู้แจ้งจึงได้ถูกปล่อยตัวในวันเดียวกัน กระทั่งในวันที่ 25 มิ.ย. 66 เวลาประมาณ 15.00 น. ผู้แจ้งกับพวกได้เดินทางมาที่ด่านศุลกากรอรัญประเทศ เพื่อตรวจสอบของกลางและขอประมูลของกลาง อันคิดคำนวณค่าภาษีตามกฎหมายแล้ว แต่ปรากฏว่า ของกลางดังกล่าวไม่ได้เก็บรักษาไว้ที่ด่านศุลกากรฯ ผู้แจ้งจึงสอบถามเจ้าหน้าที่ซึ่งเกี่ยวข้องว่า ของกลางดังกล่าวได้ดำเนินการอย่างไร แต่ไม่มีผู้ใดให้คำตอบที่ถูกต้องได้ ผู้แจ้งจึงมาพบพนักงานสอบสวน เพื่อขอลงบันทึกไว้เป็นหลักฐาน และจะไปทำการตรวจสอบความถูกต้องกับด่านศุลกากรอรัญประเทศต่อไป โดยหากพบว่าเจ้าหน้าที่ดำเนินการไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ผู้แจ้งจะมาแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนต่ออีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม สำหรับกรณีดังกล่าว นายอัมรินทร์ ยี่เฮง เครือข่ายภาคประชาชนจังหวัดสระแก้ว ซึ่งออกมาร้องเรียนกรณีนี้ตั้งแต่แรก บอกว่า ขณะนี้เจ้าของทุเรียนซึ่งยืนยันว่า ซื้อทุเรียนมาจาก จ.ศรีสะเกษ เดินทางไปแจ้งความแล้ว และมีเจ้าหน้าที่ศุลกากรนายหนึ่งติดต่อมาถามว่า “จะเอายังไง” ทางเจ้าของทุเรียนมีความประสงค์ที่จะเอาทุเรียนคืน เมื่อไปดูไม่เจอทุเรียนแล้ว จึงมาแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน เพราะทุเรียนไม่มีแล้ว ทางเจ้าหน้าที่ศุลกากรก็แจ้งว่า “งั้นก็สู้กันตามระบบ”

ซึ่งเจ้าหน้าที่บอกว่ามีคลิป แต่ก็ไม่ยอมเอามาเปิดเผย และช่วงเย็นก็พบเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมารับทุเรียนไปอีกลอตหนึ่งช่วงเย็น ก็เหลืออยู่เพียงเล็กน้อย เจ้าหน้าที่จะอ้างว่า เวลาจับเจ้าหน้าที่ให้เซ็นยกให้ เมื่อไม่มีใครมารับเป็นเจ้าของ ก็ตกเป็นของแผ่นดิน แล้วก็นำไปจำหน่ายจ่ายแจก ขณะที่กรณีนี้ เจ้าของประสงค์จะขอซื้อคืนตั้งแต่ตอนเช้า แต่เจ้าหน้าที่บอกว่าจะเอาไปทำลาย ส่วนพยานหลักฐานของเจ้าหน้าที่เขาอ้างว่า ของออกมาจากชายแดน ทำไมไม่จับตอนนั้น แต่กลับเอาคนขับรถไปชี้ตรงแนวชายแดน บริเวณหลังวัดแห่งหนึ่งในพื้นที่ ต.คลองน้ำใส ด้วย ซึ่งเจ้าของยืนยันว่า เอามาจากศรีสะเกษจริง.