กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า (24 มิ.ย. 66) รายงานว่า ร่องมรสุมพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน และอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนภาคกลาง และภาคใต้ มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง

สำหรับบริเวณทะเลอันดามัน ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย

พยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า : ในช่วงวันที่ 24-25 มิ.ย. 66 ร่องมรสุมพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน และอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ส่วนในช่วงวันที่ 26-30 มิ.ย. 66 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และประเทศลาวตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน และภาคใต้ มีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือด้านตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน

สำหรับในช่วงวันที่ 25-30 มิ.ย. 66 คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามัน และอ่าวไทยจะเริ่มมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามัน ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนอ่าวไทยห่างฝั่ง ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ข้อควรระวัง: ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่าน และพื้นที่ลุ่มไว้ด้วยตลอดช่วง ส่วนในช่วงวันที่ 25-30 มิ.ย. 66 ขอให้ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย

สถานการณ์แผ่นดินไหวในช่วง (23-24 มิ.ย. 66): ตรวจพบเหตุการณ์แผ่นดินไหว ขนาด 3.7 3.6, 3.1 และ 3.1 มีศูนย์กลางอยู่ที่นอกชายฝั่งทางตอนใต้ของประเทศเมียนมา ขนาด 4.7 มีศูนย์กลางอยู่ที่นอกชายฝั่งตะวันตกทางตอนเหนือหมู่เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย  ขนาด 1.5 มีศูนย์กลางอยู่ที่ ต.แม่สรวย อ.แม่สรวย จ.เชียงราย และขนาด 4.8 มีศูนย์กลางอยู่ที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีน ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทยแต่อย่างใด

ขอบคุณข้อมูลและภาพ กรมอุตุนิยมวิทยา