การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) แจ้งความคืบหน้าโครงการทางพิเศษ(ด่วน)สายพระราม 3-ดาวคะนอง-ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ระยะทาง 18.7 กิโลเมตร (กม.) วงเงินประมาณ 3 หมื่นล้านบาทว่า โครงการดังกล่าวประกอบด้วยงานจ้างก่อสร้าง 5 สัญญา ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้าง 2 สัญญา ได้แก่ 1.สัญญาที่ 2 ทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร มีจุดเริ่มต้นที่ กม.6+600 ของถนนพระรามที่ 2 ถึงบริเวณทางแยกต่างระดับดาวคะนอง ระยะทางประมาณ 5.3 กม. กิจการร่วมค้าซีทีบี (บริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง คัมปานี ลิมิเต็ด, บริษัท ทิพากร จำกัด และ บริษัท บุรีรัมย์ธงชัยก่อสร้าง จำกัด) เป็นผู้รับจ้าง โดยงานก่อสร้างคืบหน้า 20.16% เร็วกว่าแผน 1.07%
และ 2. สัญญาที่ 4 งานก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาขนาด 8 ช่องจราจร มีความยาวช่วงสะพาน 450 เมตร สิ้นสุดที่ทางแยกต่างระดับบางโคล่ ระยะทางประมาณ 2 กม. บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้าง โดยงานก่อสร้างคืบหน้า 45.10% เร็วกว่าแผนร้อยละ 0.01 ส่วนสัญญาที่ 1 สัญญาที่ 3 และสัญญาที่ 5 ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างโครงการ โดยมีสถานการณ์ดำเนินการดังนี้
สัญญาที่ 1 เป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร มีจุดเริ่มต้นที่ กม. 13+000 ของถนนพระรามที่ 2 ถึง กม. 6+600 ของถนนพระรามที่ 2 ระยะทางรวมประมาณ 6.4 กม. โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาผลการประกวดราคา คาดว่าจะได้ผู้รับจ้าง ลงนามในสัญญา และเริ่มก่อสร้างเดือน ต.ค.64, สัญญาที่ 3 งานก่อสร้างทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร คร่อมตามแนวทางพิเศษเฉลิมมหานครช่วงดาวคะนอง-สุขสวัสดิ์-ราษฎร์บูรณะ ระยะทางประมาณ 5 กม. ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาผลการประกวดราคา คาดว่าจะได้ผู้รับจ้าง ลงนามในสัญญา และเริ่มก่อสร้างเดือน ต.ค.64
และสัญญาที่ 5 งานระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง ระบบควบคุมจราจร และระบบสื่อสาร ได้มีการปรับปรุงร่างขอบเขตของงานจ้างก่อสร้าง ให้ระบบจัดเก็บค่าผ่านทางเป็นระบบแบบไม่มีไม้กั้น (M-Flow) ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเตรียมการประกวดราคา อย่างไรก็ตาม กทพ. ได้พิจารณาปรับแผนงานการดำเนินการก่อสร้างในสัญญาที่ 1 และสัญญาที่ 3 ให้สามารถแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการได้จากกำหนดเดิมระยะเวลา 39 เดือน เหลือ 34 เดือน เพื่อบริหารจัดการให้สามารถแล้วเสร็จได้ใกล้เคียงกันในทุกสัญญา
ทั้งนี้คาดว่าทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวน รอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก จะสามารถก่อสร้างแล้วเสร็จ พร้อมเปิดให้บริการได้ในปี 67 และ กทพ. มีแนวทางในการลดผลกระทบจากกรณีที่โครงการแต่ละสัญญาก่อสร้างแล้วเสร็จไม่เท่ากัน คือ กทพ.อาจพิจารณาเปิดให้บริการโครงการเป็นบางส่วนก่อน.