หญิงสาวนุ่งซิ่น สวมเสื้อแขนกระบอกสามส่วน มีผ้าแถบยาวคล้ายสไบพาดไว้ที่บ่า ผมยาวถูกรวบมัดเป็นมวยไว้ด้านหลัง บนศีรษะเทินสิ่งของไว้มากบ้างน้อยบ้าง เป็นภาพคุ้นตาของผู้คนที่มาเยือน “สะพานอุตตมานุสรณ์” หรือที่เรียกกันติดปากว่า “สะพานมอญ” สะพานไม้ยาว 850 เมตร ซึ่งยาวที่สุดในประเทศไทย และรั้งอันดับ 2 ของโลก สะพานที่เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านในพื้นที่ ตามดำริของ หลวงพ่ออุตตมะ เจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการาม ในปี พ.ศ. 2529-2530 เพื่อเชื่อมชุมชนสองฝั่งเข้าไว้ด้วยกัน จากเดิมที่มี “สะพานบาทเดียว” ไม้ไผ่ที่ถูกนำมาต่อเป็นแพแล้วมีคนคอยลากพาข้ามฟากไปอีกฝั่ง โดยเก็บค่าบริการครั้งละ 1 บาท จนเป็นที่มาของชื่อ

จากอุปกรณ์พื้นบ้าน ไม้เนื้อแข็ง และไม้ยืนต้นตายจากเขื่อน บวกกับแรงงานของพี่น้องชาวมอญและไทใหญ่ที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ ผสานด้วยแรงศรัทธา สะพานไม้แห่งมิตรภาพที่พาดข้ามแม่น้ำซองกาเลีย ไม่เพียงทำหน้าที่เชื่อมสองฝั่งในฐานะเส้นทางสัญจร หากแต่ยังเชื่อมโยงวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน ทั้งเป็นเส้นทางที่ผู้คนจากภายนอกใช้เป็นทางไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วย โดยเฉพาะในช่วงเช้าของทุกวันที่จะมีพระสงฆ์เดินบิณฑบาต บางคนตั้งใจตื่นเช้ามาเฝ้ามองดูบรรยากาศ บ้างร่วมตักบาตรด้วยเพื่อซึบซับวิถีชีวิตให้ใกล้ชิดมากกว่าเดิม ผ่านพ้นห้วงเวลานั้นแล้ว บางคนเดินต่อไปยังหมู่บ้านชาวมอญ สัมผัสวิถีชีวิต ซื้อของที่ระลึก และลิ้มลองเมนูท้องถิ่นอย่างขนมจีนน้ำยาหยวกกล้วย

ไม่เพียงเท่านั้นการก้าวย่างไปอย่างเชื่องช้าบนสะพานไม้แห่งนี้ ยังมีวิวทะเลสาบของเขื่อนวชิราลงกรณให้ได้ชม ทั้งยังสามารถมองเห็นลำห้วยสามสายที่มาบรรจบ ซองกาเลีย บีคลี่ และรันตี จนกลายเป็นชื่อสามประสบ ในช่วงหน้าร้อนบริเวณสะพานมอญยังทำหน้าเป็นเสมือนสวนน้ำสำหรับเด็ก ๆ ที่จะมาปีนป่ายขึ้นมาอาศัยสะพานเป็นแท่นกระโดดน้ำ ขณะที่นักท่องเที่ยวบางคนเลือกที่จะนั่งเรือชมวัดต่าง ๆ เป็นโปรแกรมถัดไป มีจุดหมายอยู่ที่วัดจมน้ำหรือวัดวังก์วิเวการาม (เก่า) วัดศรีสุวรรณ (เก่า) และวัดสมเด็จ (เก่า)

สะพานอุตตมานุสรณ์อยู่ในเขตอำเภอสังขละบุรี การเดินทางด้วยรถยนต์จากสี่แยกแก่งเสี้ยนเลี้ยวซ้ายไปทาง อ.ไทรโยค จากนั้นขับตรงไปประมาณ 135 กิโลเมตร ก็จะถึงสามแยกไฟแดงประมาณหลักกิโลเมตรที่ 199-200 ถนนหมายเลข 323 เลี้ยวขวาไปอำเภอสังขละบุรี จากนั้นขับตรงไปประมาณ 74 กิโลเมตร ก็จะถึงสะพานมอญ อำเภอสังขละบุรี

จากอำเภอติดชายแดนไทย-เมียนมา ขยับเข้ามาที่อำเภอทองผาภูมิ มีชุมชนเล็ก ๆ “บ้านอีต่อง” ณ บริเวณที่เคยเป็นที่ตั้งของเหมืองปิล็อกในยุคของการทำอุตสาหกรรมแร่ดีบุกช่วงปี พ.ศ. 2483 ปัจจุบันชุมชนแห่งนี้ได้พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ ด้วยความที่อยู่ติดริมน้ำ มีบรรยากาศที่ทำให้รู้สึกสดชื่นผ่อนคลาย จึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมอีกแห่งหนึ่ง

ที่นี่มีที่พักแบบโฮมสเตย์ให้บริการ เพื่อให้ผู้มาเยือนได้สัมผัสกับวิถีชีวิตได้อย่างใกล้ชิดท่ามกลางธรรมชาติที่งดงาม ภายในหมู่บ้านมีการผูกป้ายบริเวณสะพาน เป็นจุดเช็กอินถ่ายภาพเก็บความทรงจำว่าครั้งหนึ่งเคยเดินทางมาเยือนบ้านอีต่อง เหมืองปิล็อกแล้ว นอกจากนี้ยังมีตลาดบ้านอีต่อง ซึ่งเป็นแหล่งกระจายรายได้สู่ชุมชน มีร้านค้าชุมชน ร้านขายสินค้าที่ระลึก และร้านอาหารหลายแห่ง

จากอำเภอทองผาภูมิ ใช้ทางหลวงหมายเลข 3272 ระยะทางประมาณ 70 กิโลเมตร ผ่านเส้นทางโค้งกว่า 399 โค้ง สภาพเส้นทางเป็นถนนลาดยาง ผิวถนนชำรุดเป็นบางแห่ง จึงควรออกเดินทางก่อนเวลา 15.00 น. และจากชุมชนบ้านอีต่องสามารถขับรถต่อไปชมอุโมงค์เหมืองแร่เก่าที่อยู่บนเนินเขาได้

“อุโมงค์สามมิติ” หรือ “อุโมงค์ ดร.ผล กลีบบัว” เป็นอุโมงค์เหมืองแร่เก่าที่ขุดเจาะด้วยฝีมือมนุษย์อยู่ในเขตเหมืองตะกั่วเก่าที่มีมากว่า 3 ชั่วอายุคน ตัวอุโมงค์มีขนาดใหญ่ขนาดที่รถบรรทุกสามารถขับเข้าไปด้านในได้ ในอดีตใช้สำหรับลำเลียงขนแร่ที่ขุดเจาะได้จากในภูเขาออกมา มีทั้งหมด 3 อุโมงค์ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน โดยอุโมงค์ที่ลึกที่สุดมีความลึกจากด้านสู่ด้านประมาณ 2 กิโลเมตรเศษ หากรวมความยาวของอุโมงค์ใต้ดินทั้งหมดจะยาวกว่า 50 กิโลเมตร

อาจเรียกได้ว่าอุโมงค์เหมืองเก่าแห่งนี้เป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยว Unseen ของอำเภอทองผาภูมิ ที่นักท่องเที่ยวน้อยคนจะได้เข้ามาสัมผัส ภายในอุโมงค์ตลอดเส้นทางจะได้เห็นหินงอกหินย้อยเปล่งประกายระยิบระยับ ท่ามกลางความมืดมิดที่ผู้พิชิตสามารถนั่งรถลุ้นระทึกลอดไปในอุโมงค์เย็นฉ่ำ ตลอดเส้นทางยิ่งลึก ยิ่งสร้างความตื่นเต้นเร้าใจ เสมือนอยู่ในโลกจินตนาการ ชมน้ำตกขนาดเล็กที่ไหลลงมาตามปล่องอุโมงค์ เป็นอีกหนึ่งความมหัศจรรย์แห่งกาลเวลา ที่ท้าทายให้ผู้รักการผจญภัยได้ไปสัมผัสสักครั้ง

อุโมงค์สามมิติ ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 2 บ้านป่าไม้สะพานลาว ตำบลสหกรณ์นิคม อำเภอทองผาภูมิ นักท่องเที่ยวสามารถใช้บริการรถนำเที่ยวเข้าชมอุโมงค์ 3 มิติ รถกระบะนำชมคันละ 1,000 บาท รถ 1 คันนั่งได้ไม่เกิน 10 คน โดยจะมีไกด์ท้องถิ่น 1 คนนั่งไปกับรถด้วย หากนักท่องเที่ยวต้องการนำรถส่วนตัวเข้าไปเองจะต้องมีเจ้าหน้าที่นำทาง โดยคิดเฉพาะค่าเข้าชม ท่านละ 100 บาท

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ชุมชนในตำบลสหกรณ์นิคม อนุชิต ปัสสาสัย โทร. 08-9018-2617 เฉลิมพล สันติธรรมสุทธิ ประธานป่าชุมชน โทร. 08-9820-0656 วิจารย์ อ่อนคำ ผู้ใหญ่บ้าน โทร. 08-2123-4155 โดยจุดบริการนักท่องเที่ยวและจุดขึ้นรถจะอยู่ที่ หน่วยรักษาป่า กจ.12 ให้บริการเวลา 06.00-16.30 น. ไม่เว้นวันหยุดราชการ โทร. 08-9257-9953

กลับเข้ามาในอำเภอเมืองกาญจนบุรี ไปเดินเล่น “Skywalk กาญจนบุรี” แลนด์มาร์คแห่งใหม่ริมแม่น้ำแคว มีความสูง 12 เมตรจากพื้นถนน และความยาว 150 เมตรตลอดริมแม่น้ำ พื้นของ Skywalk กาญจนบุรี ทำจากกระจกใสแข็งแรงสามารถมองเห็นแม่น้ำด้านล่างได้ เมื่อเดินไปด้านซ้ายของสะพานจะสามารถมองเห็นแม่น้ำทั้งหมดสามสายคือ แม่น้ำแควใหญ่ แม่น้ำแควน้อยที่มาบรรจบกัน และกลายเป็นแม่น้ำแม่กลอง ซึ่งถือเป็นไฮไลต์พิเศษ ส่วนทางด้านขวาจะมองเห็นวิวของหอพระประวัติสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสถานที่สำคัญของจังหวัดกาญจนบุรีอีกด้วย

Skywalk กาญจนบุรี ตั้งอยู่ที่ท่าน้ำหน้าเมืองกาญจนบุรี เปิดให้บริการทุกวัน เวลา 09.00-17.00 น. ค่าบริการ 60 บาท/คน โดยจะมีรองเท้าให้สวมเพื่อเดินบนสะพานกระจก สอบถามข้อมูล เทศบาลเมืองกาญจนบุรี โทร. 0-3451-1502

จากนั้นเปลี่ยนบรรยากาศไปเดินเล่นที่ “โรงงานกระดาษไทยกาญจนบุรี” โรงงานกระดาษแห่งที่ 2 ของประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นในช่วงยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 บนพื้นที่ 69 ไร่เศษ โดย พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเป็นผู้ริเริ่ม และเปิดดำเนินกิจการในปี พ.ศ. 2478 เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์สำคัญบนหน้าประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของคนเมืองกาญจน์ในยุคเปลี่ยนผ่านจากสังคมเกษตรสู่สังคมอุตสาหกรรม เป็นโรงงานซึ่งนำความเจริญและความทันสมัยมาสู่วิถีชีวิตคนเมืองกาญจน์อย่างมากมายในสมัยเมื่อกว่า 80 ปีที่ผ่านมา

อาคารของโรงงานกระดาษเป็นทรงยุโรปสมัยกลาง รูปแบบสถาปัตยกรรมร่วมสมัยที่ทรงคุณค่า โครงสร้างอาคารสร้างโดยช่างชาวเยอรมัน จึงมีโครงสร้างที่มั่นคงแข็งแรง กระดาษที่ผลิตจากโรงงานแห่งนี้ในสมัยนั้น ได้ถูกนำมาใช้ผลิตเป็นธนบัตรและแสตมป์รุ่นแรก ๆ ของไทย สอบถามเพิ่มเติมที่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี โทร. 0-3451-2477

ปิดท้ายด้วย “Mulberry Mellow” หนึ่งในคาเฟ่ฮิตของเมืองกาญจน์เป็นคาเฟ่แบบ Open Air ในพื้นที่ ต.เกาะสำโรง สถานที่กว้างขวาง เน้นบรรยากาศธรรมชาติ ร่มรื่น รายล้อมไปด้วยต้นไม้ มีบ่อน้ำตรงกลางร้านและพื้นหลังเป็นภูเขา เมนูซิกเนเจอร์ของที่นี่จะมีมัลเบอร์รี่ หรือลูกหม่อน เป็นส่วนประกอบหลัก ทั้งเครื่องดื่มและของหวาน ร้านเปิดทุกวัน 08.00-18.00 น. โทร. 08-1933-1871

ในวันฝนพรำ “กาญจนบุรี” หนึ่งในจังหวัดที่ติดอันดับต้น ๆ ในเรื่องอุณหภูมิความร้อนที่แสนร้อนแรง กลับมีอากาศเย็นสบายไม่ใช่เพียงเพราะเม็ดฝนที่มาเติมความฉ่ำเย็น แต่ยังเป็นเพราะผืนป่าตะวันตกและเทือกเขาที่โอบล้อมซึ่งยังคงความอุดมสมบูรณ์ เช่นเดียวกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลายที่ยังคงอยู่ ออกไปแลกเปลี่ยน ออกไปเรียนรู้ แล้วจะเห็นว่า กาญจนบุรีมีอะไรมากกว่าที่เคยรู้จัก สอบถามเส้นทางท่องเที่ยวเพิ่มเติมที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานกาญจนบุรี โทร. 0-3451-1200

เทศกาลผลไม้ของดีทองผาภูมิ
เทศกาลผลไม้ของดีอำเภอทองผาภูมิ และสืบสานประเพณีลานบ้าน ลานวัฒนธรรม ประจำปี 2566

  • ชิม-ช้อปผลไม้ขึ้นชื่อของอำเภอทองผาภูมิ อาทิ เงาะ-ทุเรียนทองผาภูมิ ส้มโอ มังคุด ลองกอง มะไฟ สะตอ สับปะรด
  • คนรักสุขภาพพลาดไม่ได้กับ ผักปลอดสารพิษ และพันธุ์ไม้ท้องถิ่น
  • สินค้าโอทอปชื่อดังของอำเภอ
  • คาราวานสินค้าราคาถูก
  • ชมการสาธิตและการแสดงศิลปวัฒนธรรมของชนเผ่าต่าง ๆ อาทิ มอญ กะเหรี่ยง ลาว ม้ง อิ้วเมี่ยน

    พบกันที่ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ภายในเขื่อนวชิราลงกรณ์ อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี 30 มิถุนายน 2566-4 กรกฎาคม 2566 สอบถามเพิ่มเติมสำนักงานเกษตรอำเภอทองผาภูมิ โทร. 0-3459-9482