นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่มีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธาน ว่า นายกรัฐมนตี ได้สั่งให้เร่งหาแนวทางช่วยเหลือเอสเอ็มอีและภาคธุรกิจผ่านมาตรการส่งเสริมการลงทุนและการให้สิทธิพิเศษต่าง ๆ ของบีโอไอ ที่จะต้องเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด เพราะไม่อาจคาดได้ว่าโควิด-19 จะอยู่ไปอีกถึงเมื่อไร โดยสิ่งที่ขอให้ทำทันที คือ การระวังไม่ทำให้คนตกงาน พร้อมหาแนวทางให้คนมาทำงานร่วมกับเครื่องจักรได้มากขึ้น

น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบ 3 มาตรการเพื่อส่งเสริมการลงทุน คือ มาตรการที่ 1 ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการที่อยู่ระหว่างได้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล หากนำเงินมาสนับสนุนโครงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนและยาของสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย หรือหน่วยงานภาครัฐ โดยกรณีที่เงินสนับสนุนมีมูลค่าอย่างน้อย 1% ของยอดขายของโครงการใน 3 ปีแรกรวมกัน หรืออย่างน้อย 200 ล้านบาท จะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเพิ่มอีก 1-3 ปี และกรณีที่ค่าใช้จ่ายไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำ จะเพิ่มวงเงินยกเว้นภาษีในสัดส่วน 100% ของค่าใช้จ่ายเท่านั้น

ขณะเดียวกันยังผ่อนผันขยายเวลาการดำเนินการให้ได้รับการรับรองมาตรฐานสากล เช่น ไอเอสโอ 9002, ซีเอ็มเอ็มอี กับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการตรวจประเมินที่ล่าช้า หรือไม่สามารถตรวจประเมินในสถานประกอบการได้ โดยขยายเวลาออกไปอีก 6 เดือน นับจากวันครบกำหนดระหว่างวันที่ 1 เม.ย. – 31 ธ.ค.64 และผ่อนผันการขออนุญาตหยุดดำเนินกิจการชั่วคราวเป็นระยะเวลาเกินกว่า 2 เดือน ระหว่างวันที่ 1 เม.ย. – 31 ธ.ค.64 สามารถกรอกข้อมูลผ่านระบบออนไลน์โดยไม่ต้องยื่นขออนุญาตจากบีโอไอ

มาตรการที่ 2 ได้ปรับปรุงนโยบายส่งเสริมการลงทุนการผลิตยานพาหนะไฟฟ้า โดยขยายขอบข่ายของประเภทกิจการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (บีอีวี) ทั้งรถยนต์ไฟฟ้า รถสามล้อไฟฟ้า และรถโดยสารไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ ให้ครอบคลุมการผลิตแพลตฟอร์มสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ ที่สามารถนำไปใช้งานร่วมกันได้ และเปิดให้การส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตรถจักรยานไฟฟ้า โดยยกเว้นภาษี 3 ปี และหากมีการผลิตแทรคชั่น มอเตอร์ หรือการผลิตโครงรถจักรยานไฟฟ้าจากวัสดุน้ำหนักเบาภายใน 3 ปี นับจากวันออกบัตรส่งเสริม จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมอีกกรณีละ 1 ปี และยังขอสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมหากมีการวิจัยพัฒนาได้ด้วย

มาตรการที่ 3 ส่งเสริมการลงทุนเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อม ทั้งขยายระยะเวลาการยื่นขอรับการส่งเสริมตามมาตรการเศรษฐกิจฐานรากออกไปอีก 1 ปี เป็นสิ้นปี 65, การยกเว้นภาษี 3 ปี สัดส่วน 50% ของเงินลงทุนให้กับการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก, ให้กิจการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ในกรณีใช้เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอน ให้ได้ยกเว้นภาษี 8 ปี และกิจการห้องเย็นหรือกิจการห้องเย็นและขนส่งห้องเย็น ในกรณีใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ จะได้รับยกเว้นภาษี 3 ปี และเปิดให้ส่งเสริมการลงทุนกิจการโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ที่ใช้เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน ให้ได้รับยกเว้นภาษี 8 ปี