บริษัท เอ็นบีสเปซ จำกัด (NBSPACE) บริษัทสตาร์ทอัพภายใต้การสนับสนุนจาก มจพ. ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 จากการนำเสนอรูปแบบเทคโนโลยี นวัตกรรม และแผนธุรกิจ “The Best Startup in Space Economy: Lifting Off” ภายใต้โครงการพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกด้านเศรษฐกิจอวกาศ จัดโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) หรือ NIA เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 โดยนำเสนอการให้บริการแพลตฟอร์มดาวเทียมออกแบบและพัฒนาด้วยตนเองภายในประเทศ แต่สามารถให้บริการได้ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงสามารถออกแบบและพัฒนาดาวเทียมให้ตรงตามความต้องการของลูกค้าได้อีกด้วยโดยสมาชิกในทีมประกอบด้วย 1. คุณจักรภัสสร์ รุ่งเรือง 2. คุณนวรัตน์ วรกุล 3.คุณอภิวัฒน์ จิรวัฒนผล เป็นอดีตนักศึกษา มจพ. ที่เป็นกำลังสำคัญร่วมสร้างดาวเทียมแนคแซท (KNACKSAT) ดาวเทียมสัญชาติไทยดวงแรกของ มจพ. ได้นำขึ้นสู่วงโคจรเมื่อปี 2561
NBSPACE เป็นสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอวกาศ ที่ได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นทางการทางเทคโนโลยีจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เพื่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศในประเทศไทย โดยมีผู้ร่วมก่อตั้งเป็นศิษย์เก่า มจพ. และเป็นสมาชิกในทีมพัฒนาดาวเทียม KNACKSAT ซึ่งเป็นดาวเทียมที่ออกแบบและสร้างในประเทศไทยทั้งหมดเป็นดวงแรกของประเทศ ปัจจุบัน NBSPACE ได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นของ มจพ. และได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการร่วมกันเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศในประเทศไทย
คุณอภิวัฒน์ จิรวัฒนผล CEO ของ NBSPACE กล่าวว่า “ขอขอบคุณมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สภามหาวิทยาลัย ผู้บริหาร ที่สนับสนุนโครงการด้านอวกาศในมหาวิทยาลัย ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบินอวกาศ ที่ได้มีการวิจัยด้านอวกาศในโครงการดาวเทียม KNACKSAT-1 ทำให้คณะผู้ก่อตั้งบริษัท มีประสบการณ์ออกแบบและสร้างดาวเทียมระหว่างที่เป็นนักศึกษา และขอขอบคุณบัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิรินธร ไทย-เยอรมัน ที่ให้การสนับสนุน NBSPACE ด้านเทคโนโลยีและพื้นที่ในการตั้งสำนักงานของบริษัท”
ขณะนี้ NBSPACE อยู่ระหว่างการออกแบบและสร้างดาวเทียม KNACKSAT-2 ร่วมกับ มจพ. ซึ่งเป็นดาวเทียมที่มีวัตถุประสงค์ด้านการศึกษาและวิจัย มีกำหนดส่งเข้าสู่วงโคจรกลางปี 2565 จากสถานีอวกาศนานาชาติ มจพ. และที่ผ่านมามหาวิทยาลัยได้ดำเนินความร่วมมือกับเครือข่ายทางวิชาการทางด้านอวกาศทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ ความร่วมมือหลักสูตรดาวเทียมกับโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน หรือหลักสูตร Double degree ด้านดาวเทียมกับประเทศญี่ปุ่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) พร้อมที่จะมุ่งมั่นและพัฒนาเทคโนโลยีด้านอวกาศ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการต่อยอดด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงเศรษฐกิจอุตสาหกรรมอวกาศในระดับประเทศต่อไป
สนใจศึกษาต่อมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ปีการศึกษา 2565 สอบถามได้ทีเบอร์โทร 02-5552000 ต่อ 1625-1627 หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมhttp://www.admission.kmutnb.ac.th/