“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” รายงานเงินบาทสัปดาห์ที่ผ่านมาพลิกแข็งค่าทดสอบแนว 34.50 ช่วงปลายสัปดาห์ หลังแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 2 เดือนครึ่งที่ 34.89 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงต้นสัปดาห์ โดยเงินบาทอ่อนค่าลงตามเงินหยวนและสกุลเงินเอเชียในช่วงต้นสัปดาห์ท่ามกลางแรงหนุนเงินดอลลาร์ จากตัวเลขเงินเฟ้อ PCE/Core PCE เดือน เม.ย. ของสหรัฐ ที่เพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาด ซึ่งหนุนโอกาสการคุมเข้มนโยบายการเงินต่อเนื่องของเฟด

นอกจากนี้เงินบาทยังมีปัจจัยลบจากตัวเลขการส่งออกของไทยเดือน เม.ย. ที่หดตัวลงมากกว่าที่คาด และจากสถานะขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ อนึ่ง เงินบาทได้รับแรงหนุนไม่มากนัก หลัง กนง. ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ไปอยู่ที่ระดับ 2.00% ตามการคาดการณ์ของตลาด

อย่างไรก็ดี เงินบาทแข็งค่ากลับมาในช่วงปลายสัปดาห์ หลังสภาคองเกรสผ่านร่างกฎหมายเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐ ซึ่งทำให้แรงหนุนเงินดอลลาร์ ในฐานะสกุลเงินปลอดภัยมีน้อยลง ประกอบกับเงินดอลลาร์ ทยอยปรับตัวลงตามบอนด์ยีลด์สหรัฐ หลังข้อมูล ISM ภาคการผลิตที่อ่อนแอและท่าทีของเจ้าหน้าที่เฟด กระตุ้นให้ตลาดทยอยปรับการคาดการณ์กลับมาให้น้ำหนักกับโอกาสที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมที่ 5.00-5.25% ในการประชุม FOMC วันที่ 13-14 มิ.ย.นี้

ในวันศุกร์ที่ 2 มิ.ย. 2566 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 34.56 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับ 34.68 บาทต่อดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (26 พ.ค.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 29 พ.ค.-2 มิ.ย. 2566 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทย 8,615.08 ล้านบาท และ 6,664.85 ล้านบาท ตามลำดับ

สัปดาห์ถัดไป (5-9 มิ.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 34.30-34.90 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์การเมืองและอัตราเงินเฟ้อเดือน พ.ค. ของไทย และทิศทางเงินทุนต่างชาติ

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI/ISM ภาคบริการเดือน พ.ค. ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือน เม.ย. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามผลการประชุมธนาคารกลางออสเตรเลีย ดัชนี PMI ภาคบริการเดือน พ.ค. ของจีน ยูโรโซน และอังกฤษ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/66 ของญี่ปุ่นและยูโรโซน รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจเดือน พ.ค. ของจีน อาทิ ข้อมูลการส่งออก ดัชนีราคาผู้บริโภค และดัชนีราคาผู้ผลิต