เมื่อเวลา 12.30 น.วันที่ 1 มิ.ย. ที่ศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า) เขตพระนคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวภายหลังการประชุมหัวหน้าหน่วยงานกรุงเทพมหานครถึงกรณีมีกระแสข่าวฝ่ายโยธาเรียกรับเงินเพื่ออำนวยความสะดวกในการขอใบอนุญาตก่อสร้างและปรับปรุงอาคารว่า มีคนที่รู้จักผมเป็นการส่วนตัวมาเล่าให้ผมฟังว่า ถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายโยธาของสำนักงานเขตๆ หนึ่ง เรียกเงินหลายแสน ระหว่างที่บุคคลคนนั้นไปยื่นเรื่องขอใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร แต่ยังไม่มีการจ่ายเงินแต่อย่างใด
“ยอมรับว่าครั้งแรกที่ได้ยินก็โมโห เพราะเราก็พูดชัดเจนมาโดยตลอด แต่ทำไมยังมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นอีก ทำให้สิ่งที่ตั้งใจทำมาเสียไปหมด”
จากนั้นก็สั่งการให้ทางรองปลัดก ทม. ไปดูว่าเป็นอย่างไง หาหลักฐานได้ไหม ก็เตือน ผอ.เขตทุกคนให้ระมัดระวังเรื่องนี้ เชื่อว่าก็ยังเหตุการณ์เรื่องนี้อยู่ แต่ถ้าไม่มีหลักฐานชัดเจน ถึงขนาดทำให้ติดคุกได้ก็ยากเหมือนกัน โดยมอบให้ไปดูให้ชัดเจนว่า มีหลักฐานอะไรไหม ที่ผ่านมาเรามีล่อซื้อไปหลายเคส แต่ล่อซื้อเราทำเองไม่ได้ ร่วมมือกับ ป.ป.ท. ป.ป.ช. แล้วเราก็มีเคสแบบนี้เยอะ เรามีประชาชนร้องเรียนช่วยส่งเบาะแสเรามาร้อยกว่าเรื่อง ผ่านทราฟฟี่ๆ ฟองดูว์ 77 เรื่อง เรารับฟังข้อมูลต่างๆ
นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า เราเอาจริงเอาจังและไม่อดทนต่อเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นนโยบายที่เน้นไป มีเบาะแส เราก็ดำเนินการตลอด อย่างที่บอกเบาะแสเป็นคำพูด จะเอาผิดในเชิงที่เป็นหลักฐานกฎหมายก็ต้องไปสืบสวนไปหาข้อมูลเพิ่มเติม ก็เหมือนพฤติกรรมทั่วไปที่จะขออนุญาต ก็ต้องมีใต้โต๊ะ เพื่อให้ใบอนุญาต จากนี้ก็คงต้องใช้เทคโนโลยีมาช่วย เช่น ขออนุญาตออนไลน์ไม่ต้องไปเจอตัว มีการใช้ พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกฯ กำหนดระยะเวลาใบอนุญาติต้องใช้เวลากี่วัน ในการขออนุญาต พยายามที่จะยกเรื่องนี้ขึ้นมา เพื่อที่จะเตือน ผอ.เขต เพราะเรื่องพวกนี้มันยังมีอยู่ จริงเท็จไม่รู้ เพราะว่าเป็นคำพูดบอกมา แต่ ผอ.เขตต้องรู้เรื่อง ที่เกิดขึ้นในเขตตัวเองว่ามีเรื่องพวกนี้ ต้องปฏิบัติความรับผิดชอบให้ได้ ทุกคนต้องอยู่ใต้กำกับความดูแลของเขต
“เพราะว่าวันนี้เราประชุมกับ ผอ.เขต ก็เลยเอาเรื่องนี้มาเตือนว่ามีเรื่องอย่างนี้เกิดขึ้นนะ มันเหมือนกับที่เรามีจับได้คราวที่แล้วที่มีการรับเงิน อย่าบอกเขตเลยเดี๋ยวรู้ตัว รู้ชื่อรู้เขต หาข้อเท็จจริง หาหลักฐานให้ชัดเจนก่อน ไม่เช่นนั้นก็เหมือนกับเราไปกล่าวหา”
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเรียกรับเงินนั้นเป็นเจ้าหน้าที่ระดับใด นายชัชชาติ กล่าวว่า เป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในเขต ไม่ใช่หัวหน้าฝ่าย ให้ไปหาข้อมูลอยู่ เพราะตนเพิ่งจะได้รับเเจ้ง แต่อย่างที่ได้บอกไปว่ายังไม่มีหลักฐานใดๆ ได้รับเเจ้งมาเป็นคำพูด เรื่องเเบบนี้เรารับไม่ได้ และให้ไปดำเนินการเเล้วว่าเป็นอย่างไร อย่างที่ทราบกันว่า การทุจริตมันยังมีอยู่ เราจึงต้องยอมรับและก็ปรับปรุงจัดการมันให้ดีขึ้น เนื่องจากคนของเรามีจำนวนเยอะ และก็พยายามทำกระบวนการต่างๆ มาทำให้ละเอียดเเละเข้มข้นขึ้น มันฝังรากมานานและจะต้องใช้เวลา ส่วนเรื่องที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ เป็นเจ้าหน้าที่เขตใด ตนไม่อยากโฟกัส เพราะคาดว่าจะมีทุกเขต และเชื่อว่าไม่ได้มีเคสเดียว ซึ่งตนมองว่าเป็นการดีที่ไม่ได้ระบุเจาะจงว่าเป็นเขตใด ทำให้ ผอ.เขต ตื่นตัวไปดูแลบุคคลในเขต ไม่ให้กระทำการทุจริต
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า การที่ไม่ระบุเขตแบบนี้ คนจะมองว่าเป็นการปกป้องหรือไม่ นายชัชชาติ กล่าวว่า ไม่ เพราะภายในเรามีหลักฐานอยู่แล้วว่าเป็นใคร อยู่เขตไหน เอาเป็นว่าเป็นเจ้าที่เขตหนึ่งในกรุงเทพฯ
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ในเมื่อเรามี พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกฯ เหตุใดจึงยังเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น นายชัชชาติ กล่าวว่า อาจจะมีหลายปัจจัย แต่เรื่องของรายละเอียดยังไม่แน่ในว่าเป็นประเด็นไหน บางที่กฎหมายอาจล้าสมัย อาจเอากฎหมายบางตัวที่ล้าสมัยมาใช้เป็นข้ออ้างในการทุจริต เราเลยทำหลายๆ ด้านไปพร้อมกัน เช่น การใช้เทคโนโลยีเพื่อลดการเจอหน้า หรือปรับปรุงกฎหมายมากขึ้น ฉะนั้นคงไม่มีคำตอบเดียวของการแก้ปัญหาการทุจริตได้
“เราต้องยอมรับความจริงว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นในองค์กร เราก็จะสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด” นายชัชชาติ กล่าว